พหูสูตร

Post Reply
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

พหูสูตร

Post by Nadda »

พหุสูต เรียกเป็นหัวข้อธรรมว่า พาหุสัจจะ บางท่านแปลว่า มีสัจจะมาก อันนี้ไม่ใช่นะครับ เป็นการแปลตามรูปไวยากรณ์ของศัพท์ พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก คือศึกษามากอ่านมากจำได้มาก จำได้แม่นได้นาน ในบางแห่งท่านได้กล่าวว่า แม้ไม่ทบทวนเลยเป็นเวลา 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง แต่ยังจำได้เหมือนเดิมไม่ลืมเลือนไป นี่เรียกว่า พาหุสัจจะหรือพหุสูต มีความรอบรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง รวมความว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ดีเรียกอีกอย่างหนึ่ง ผู้คงแก่เรียน

ที่กล่าวถึงองค์ประกอบ คุณสมบัติของผู้คงแก่เรียน พระุพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ใน นาถกรณธัมมสูตรนั้นเอง ในทสกนิบาต แปลว่า หมวด 10 ในอังคุตตรนิกาย มีอยู่ 5 ประการ คือ

1.สุตธโร เป็นผู้ทรงสุตะมาก สั่งสมสุตะมาก คืออ่านมาก ศึกษาค้นคว้ามาก สะสมตำรับตำรามาก ใส่ใจในความรู้อยู่เสมอ คือเป็นคนใฝ่รู้นี่เป็นคุณสมบัติประการที่ 1 นะครับ

2.ธตา แปลว่า สามารถจำไว้ได้มาก คนที่อ่านมากเรียนมาก ศึกษาค้นคว้ามาก แต่จำอะไรไม่ได้ หรือจำได้น้อยเกินไป ไม่สมสัดส่วนกับที่ได้เรียนมา ก็ได้รับประโยชน์น้อยนะครับ คือเข้าลักษณะตักน้ำใส่ตุ่มรั่ว หรือว่าคนที่หาเงินได้มาก แต่ว่าเก็บไม่ได้เลยหรือว่าเก็บได้น้อยเกินไป ก็เป็นคนที่มั่งคั่งไม่ได้ คนที่อ่านมากแต่จำไม่ได้ ก็เป็นพหุสูตไม่ได้ คือขาดคุณสมบัติของพหุสูตคนที่จะเป็นพหุสูตต้องพยายามจำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

3.วจสา ปริจิตา ว่าได้คล่อง เมื่อต้องการพูดหรือเขียนก็สามารถดึงมาใช้ได้ทันท่วงที ไม่ต้องเปิดตำราบ่อยๆ การที่มีความรู้อยู่ในตำราก็เหมือนมีทรัพย์อยู่ในมือคนอื่น เมื่อถึงคราวต้องการใช้ก็ใช้ไม่ได้ กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนลงแรงหาทรัพย์มา หรือหาความรู้มาด้วยความยากลำบาก แต่จะใช้ทีไรมันใช้ไม่ได้สักที มันเกิดขัดข้องไปเสียทุกครั้ง เหมือนกับว่ามีความรู้อยู่ในคอมพิวเตอร์ ไปไหนแบกคอมพิวเตอร์ไปด้วยไม่ได้ ต้องมาไขมาคีย์มาทำอะไรมัน ก็ยังดี ยังมีโอกาสอย่างนั้น ถ้ามันอยู่กับตัว มันก็ได้ประโยชน์มากกว่า

4.มนสานุเปกขิตา แปลว่า หมั่นพิจารณาอยู่เสมอ เอาใจเข้าไปเพ่งพินิจเพื่อให้เข้าใจข้อความที่ไม่เข้าใจ เพราะว่าการจำได้คล่องนี้ ถ้าเผื่อว่าไม่รู้ความหมายของสิ่งนั้นข้อความนั้นให้เพียงพอ ก็เหมือนกับที่เราชอบพูดกันอยู่เสมอว่าจำได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพหุสูต ต้องเอาใจใส่สิ่งนั้นอยู่เสมอ คือว่าจะเป็นพหุสูตในทางใดนะครับ ต้องหมั่นไตร่ตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น มีข้อสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนอันใดอยู่ ก็พยายามคลี่คลายออกไปให้ได้ ทางภาษาวิชาการท่านเรียกว่า คัณฐีบท แปลว่าบทลึกลับ คนเข้าใจยาก มีคนน้อยคนที่จะเข้าใจ ผู้ที่เป็นพหุสูตจึงต้องพยายามเจาะเข้าไปให้รู้ให้ได้ สิ่งใดที่ยังไม่รู้ก็ต้องพยายามสอบถามท่านผู้รู้จนได้ความแจ่มแจ้ง แล้วจึงยอมรับว่าตนรู้ในสิ่งนั้นในเรื่องนั้นจริงๆ

5.ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธา ผู้ที่จะเป็นพหุสูตจึงต้องประกอบด้วยหลักที่เรียกว่า สุ จิ ปุ ลิ คือ ฟัง คิด ถาม จดบันทึก ถ้ายิ่งบันทึกความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จดบันทึกลงไปว่า ข้อความตรงนี้เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย จดความเห็นของตนลงไปด้วย จะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น

คำว่า บัณฑิต ก็หมายถึง ท่านผู้รู้ ผู้ฉลาดปราดเปรื่อง รอบรู้ในวิชาการด้วยอาการอย่างนี้นะครับ คุณสมบัติประการที่ 5 จะบังเกิดขึ้น ก็คือว่า ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธา เป็นผู้แตกฉานแทงทะลุปรุโปร่ง อธิบายว่า มีญาณไม่ติดขัดในขอบข่ายของวิชานั้น เหมือนคนที่ยืนอยู่ในที่สว่าง มองเห็นของทุกชิ้นที่วางอยู่ในห้องสว่างนั้น ใครจะถามปัญหาใดก็ตอบปัญหานั้นได้โดยไม่ต้องเปิดตำราตอบ

ที่มา : หนังสือ "การพึ่งตน" อาจารย์วศิน อินทสระ
Post Reply