กฤษณะมูรติ : ความตาย

Post Reply
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

กฤษณะมูรติ : ความตาย

Post by Nadda »

โอไจ
๗ มิถุนายน ๑๙๓๒


ถาม : คุณพูดว่าความตาย ความรัก การเกิด โดยสาระแล้วเป็นหนึ่งเดียวกัน คุณจะยืนยันได้อย่างไรว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่าง ความสะเทือนใจและโศกเศร้าเพราะความตาย กับความสำราญใจเพราะรัก

กฤษณมูรติ : ความตายสำหรับคุณหมายถึงอะไร? การสูญเสียร่างกาย สิ้นความทรงจำ และคุณก็หวัง คิด และเชื่อว่ามีความสืบเนื่องต่อไปหลังการตาย มีอะไรบางอย่างที่หายไปจากตรงนี้ นี่เองคือสิ่งที่คุณเรียกว่าความตาย ทีนี้สำหรับผมแล้วความสืบเนื่องของความทรงจำนั่นเองที่นำความตายมา และความทรงจำก็เป็นเพียงผลของตัณหา อุปาทาน และความอยาก ดังนั้น สำหรับผู้ที่ปราศจากตัณหาจึงไม่มีความตาย ไม่มีทั้งการเริ่มต้นและสิ้นสุด ไม่มีทั้งมรรคาแห่งรัก หรือมรรคาแห่งจิตใจและความโศกเศร้า ผมพยายามจะอธิบายว่าในการไขว่คว้าหาสิ่งตรงข้ามย่อมก่อให้เกิดการต่อต้านขึ้น หากผมกลัว ผมก็ต้องแสวงหาความกล้าหาญ กระนั้นความกลัวก็ยังติดตามผมอยู่ เพราะผมเพียงแต่หนีจากความกลัวอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกัน หากผมปลดเปลื้องตัวเองให้เป็นอิสระจากความกลัว ผมก็จะไม่รู้จักทั้งความกล้าและความกลัว ผมเรียกลักษณะอาการเช่นนั้นว่า การมีสติ การตื่น ไม่พยายามที่จะไขว่คว้าหาความกล้าหาญ แต่เป็นอิสระจากแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการกระทำนั้นขึ้น นั่นก็คือ หากคุณเต็มไปด้วยความหวาดกลัว อย่าสร้างแรงจูงใจใดๆ ที่จะทำให้คุณกระทำสิ่งที่กล้าหาญ แต่ให้ปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากความกลัว นั่นเป็นการกระทำที่ปราศจากแรงจูงใจ หากคุณเข้าใจสิ่งนี้จริงๆ คุณจะเห็นว่าเวลา และความตายในฐานะที่เป็นสิ่งที่อยู่ในอนาคตจะสิ้นสุดลง ความตายมิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวอย่างแรงกล้า ด้วยเหตุที่เราหมกมุ่นอยู่กับความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวนั้น เราจึงต้องวิ่งเข้าหาผู้อื่น สิ่งอื่น เช่น เราอาจต้องการเอกภาพ หรือค้นหาสิ่งที่ดำรงอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ซึ่งสำหรับผมแล้วก็คือการไขว่คว้าหาสิ่งตรงข้าม และด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงยึดเอาความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวไว้ตลอดไป ทว่าในการเผชิญหน้ากับความเปล่าเปลี่ยวนั้น ในการยินดีกับมันอย่างเต็มเปี่ยม รู้จักมันอย่างมีสติ เท่ากับคุณได้ทำลายความเปล่าเปลี่ยวในปัจจุบันนั้นไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงปราศจากความตาย

สรรพสิ่งต้องมีการเสื่อมสูญไป สิ่งทั้งหลาย ได้แก่ ร่างกาย คุณลักษณะ การต่อต้าน อุปสรรคขัดขวาง ทั้งหมดนี้ต้องเสื่อมสูญไปโดยแท้ แต่ผู้ที่เป็นอิสระจากการต่อต้านและอุปสรรคขัดขวาง ทั้งในทางความคิดและอารมณ์ ย่อมรู้ซึ้งถึงความเป็นอมตะ มิใช่รู้ถึงความสืบเนื่องแห่งข้อจำกัดของตัวเขา แห่งอัตลักษณ์ และปัจเจกภาพของตัวเขาเอง ซึ่งเป็นเพียงชั้นต่างๆ ของตัณหา อุปาทานและความอยาก คุณอาจไม่เห็นด้วย แต่หากคุณปราศจากความคิด หากคุณหยั่งลึกลงไปโดยอาศัยการตระหนักรู้ในตนเอง โดยอาศัยการมีสติจดจ่อ โดยอาศัยเปลวไฟอันแรงกล้าเหล่านั้น คุณก็จะพบความเป็นอมตะซึ่งเป็นความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมิใช่ "มรรคาแห่งรัก" หรือ "มรรคาแห่งความโศก" แต่เป็นสิ่งซึ่งความแตกต่างทั้งมวลล้วนสิ้นสุดลง


บอมเบย์
๑๔ มีนาคม ๑๙๔๘


คำถาม : เป็นความจริงที่ว่าความตายอยู่ต่อหน้าเราทุกคน แต่ความทุกข์เวทนาเนื่องจากความตายยังไม่มีทางคลี่คลายลงได้ มันต้องเป็นเช่นนี้เสมอไปหรือ?

กฤษณมูรติ : ทำไมถึงมีความกลัวตาย? เมื่อใดที่เรายึดมั่นอยู่กับความสืบเนื่อง ก็จะมีความกลัวตาย การกระทำที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์นำมาซึ่งการกลัวความตาย ความกลัวตายจะมีอยู่ตราบเท่าที่ยังมีความปรารถนาในความสืบเนื่องของอัตลักษณ์ ความสืบเนื่องของการกระทำ ความสามารถ ชื่อเสียง และอื่นๆ ตราบใดที่ยังมีการกระทำอันหวังผล ก็ต้องมีผู้คิดที่แสวงหาความสืบเนื่อง ความกลัวเกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนเมื่อความสืบเนื่องถูกคุกคามด้วยความตาย ดังนั้น จึงยังมีความกลัวตายอยู่ตราบใดที่ยังมีความปรารถนาในความสืบเนื่อง

สิ่งที่สืบเนื่องนั้นแตกสลายได้ ความสืบเนื่องไม่ว่าจะอยู่ในรูปใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีศีลธรรมหรือไม่ ก็เป็นกระบวนการที่แตกสลาย ในความสืบเนื่องนี้ไม่มีการเกิดขึ้นใหม่ และมีแต่ในการเกิดขึ้นใหม่เท่านั้นที่มีการหลุดพ้นจากความกลัวตาย หากเรามองเห็นสัจจะข้อนี้ เราจะเห็นสัจจะในความเท็จ จากนั้นจึงจะหลุดพ้นจากความเท็จได้ เมื่อนั้นจะไม่มีความกลัวตาย ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ การแสวงหาประสบการณ์จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันขณะ ทั้งมิใช่หนทางไปสู่ความสืบเนื่อง

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ชีวิตจากขณะนี้ไปสู่ขณะอื่นอย่างสดใหม่อยู่เสมอ? การเกิดใหม่มีอยู่ในความสิ้นสุดเท่านั้น ไม่ใช่ในความสืบเนื่อง ในช่วงต่อระหว่างการสิ้นสุดและการเริ่มต้นของเรื่องราว มีการเกิดใหม่อยู่

ความตาย ภาวะที่ไร้ความสืบเนื่อง ภาวะแห่งการเกิดใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่รู้จัก ความตายเป็นสิ่งไม่รู้ จิตใจซึ่งเป็นผลของความสืบเนื่องไม่สามารถรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักได้ จิตใจรู้ได้แค่สิ่งที่รู้ได้เท่านั้น มันจึงมีความสามารถกระทำและดำรงตนอยู่ได้เฉพาะในสิ่งรู้เท่านั้น ซึ่งก็คือความสืบเนื่อง ดังนั้นสิ่งรู้จึงเกรงกลัวสิ่งไม่รู้ สิ่งรู้ไม่สามารถรู้ในสิ่งไม่รู้ได้ ความตายจึงยังคงเป็นความลี้ลับเสมอ หากมีการสิ้นสุดจากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่ง จากวันหนึ่งไปยังอีกวันหนึ่ง ในการสิ้นสุดนี้ สิ่งไม่รู้จะปรากฏตัวขึ้น

ความเป็นอมตะมิใช่การสืบเนื่องไม่สิ้นสุดของ "ฉัน" ฉันและของฉันเป็นสิ่งที่เนื่องกับเวลา เป็นผลจากการกระทำที่มีจุดมุ่งหมาย ดังนั้นจึงไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างฉันและของฉันกับสิ่งซึ่งเป็นอมตะและไร้ซึ่งกาลเวลา เราชอบคิดว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่นั่นเป็นมายา สิ่งซึ่งเป็นอมตะไม่อาจถูกห่อหุ้มด้วยสิ่งที่ต้องตายได้ สิ่งที่ไม่อาจหยั่งวัดได้ไม่สามารถถูกตาข่ายของกาลเวลาจับไว้ได้

ความหวาดกลัวความตาย ย่อมมีอยู่ในที่ที่แสวงหาทางสนองตอบต่อความปรารถนา การสนองความปรารถนานั้นไร้จุดสิ้นสุด ความปรารถนานั้นแสวงหาอยู่เสมอ และเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ปรารถนาอยู่ตลอดเวลา มันจึงติดอยู่ในตาข่ายของเวลา ดังนั้น การแสวงหาเพื่อสนองตอบต่อความปรารถนาของตัวเอง ก็เป็นอีกรูปหนึ่งของความสืบเนื่อง และความไม่สมหวังพยายามค้นหาความตายในฐานะที่เป็นหนทางแห่งความสืบเนื่อง สัจจะมิใช่การสืบเนื่อง สัจจะเป็นสภาวะของการมีอยู่เป็นอยู่ เป็นการกระทำที่ปราศจากกาล ความมีอยู่เป็นอยู่ของสัจจะนี้ อาจประสบได้เมื่อเข้าใจความปรารถนา ซึ่งเป็นที่มาของความสืบเนื่อง ได้อย่างหมดจดสมบูรณ์เท่านั้น ความคิดก่อตัวขึ้นจากอดีต ความคิดจึงไม่อาจรู้ในสิ่งไม่รู้ ไม่อาจรู้ในสิ่งซึ่งวัดไม่ได้ กระบวนการคิดต้องสิ้นสุดลง เมื่อนั้นเองสิ่งซึ่งไม่สามารถรู้ได้จึงจะปรากฏขึ้น


พาราณสี
๑๗ มกราคม ๑๙๕๔


คำถาม : ผมกลัวความตาย อะไรคือความตาย ทำอย่างไรผมจึงจะเลิกกลัวมันได้?

กฤษณมูรติ : การตั้งคำถามเป็นเรื่องง่ายมาก ไม่มีคำตอบว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" สำหรับชีวิต แต่จิตใจของเราเรียกร้องต้องการคำตอบ "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เพราะมันถูกฝึกมาว่าจะให้คิดอะไร ไม่ได้ถูกฝึกมาว่าจะทำความเข้าใจอย่างไร จะมองสรรพสิ่งต่างๆ อย่างไร เมื่อเราถามว่า "อะไรคือความตาย ทำอย่างไรผมจึงจะไม่กลัวมัน?" เราต้องการสูตรสำเร็จ ต้องการคำจำกัดความ แต่เราไม่มีวันรู้ว่าจะคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้

เรามาดูกันว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกันได้ไหม ความตายคืออะไร? คือการสิ้นสุดความมีอยู่เป็นอยู่ คือการถึงจุดจบ ใช่หรือไม่? เรารู้ว่ามีจุดจบอยู่ เราเห็นอยู่ทุกวันรอบๆ ตัวเรา แต่ฉันไม่อยากตาย "ฉัน" เป็นกระบวนการ "ฉันกำลังคิด ฉันกำลังหาประสบการณ์ ความรู้ของฉัน" สิ่งที่ฉันได้บ่มเพาะขึ้น สิ่งตรงข้ามที่ฉันต่อต้าน อัตลักษณ์ ประสบการณ์ ความรู้ ความถูกต้อง ความสามารถ ความงาม ฉันไม่ต้องการให้ทั้งหมดนี้สิ้นสุด ฉันอยากให้มันมีต่อไป ฉันยังไม่ถึงเป้าหมาย ฉันไม่ต้องการให้สิ้นสุดลง กระนั้นการสิ้นสุดก็มีอยู่ เห็นได้ชัดว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดนั้นต้องถึงจุดจบ แต่จิตใจของฉันไม่ยอมรับเช่นนั้น ฉันก็เลยเริ่มสร้างระบบความเชื่อ ความสืบเนื่องขึ้นมา ฉันต้องการยอมรับสิ่งนี้เพราะฉันมีทฤษฎีที่สมบูรณ์แบบ มีเงื่อนไขที่สมบูรณ์พร้อมว่าฉันจะคงความสืบเนื่องต่อไป ว่ามีการกลับชาติมาเกิดใหม่อีก

เราไม่ได้กำลังถกเถียงกันว่าความสืบเนื่องมีอยู่จริงหรือไม่ การเกิดใหม่มีจริงหรือเปล่า นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่แม้ว่าคุณจะเชื่อเช่นนี้ คุณก็ยังมีความกลัวอยู่ แท้จริงแล้วเป็นเพราะว่าไม่มีความแน่นอน มีแต่ความไม่แน่นอนอยู่เสมอ มีความปรารถนาในหลักประกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจิตใจที่รู้ว่ามีจุดจบจึงเริ่มมีความกลัว ปรารถนาที่จะอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แสวงหาสิ่งที่จะมาบรรเทามากขึ้นเรื่อยๆ จิตใจยังมีความเชื่อในความสืบเนื่องหลังความตายอีกด้วย

อะไรคือความสืบเนื่อง? ความสืบเนื่องมิได้มีนัยถึงกาลเวลาหรอกหรือ ไม่ใช่แค่เวลาตามเข็มนาฬิกาเท่านั้น แต่กาลเวลาที่เป็นจิตวิสัยด้วย ฉันอยากมีชีวิตอยู่ เพราะฉันคิดว่ามีกระบวนการสืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด จิตใจของฉันต่อเติมอยู่เสมอ เก็บรวบรวมเข้าหาตัวมันเองเสมอด้วยหวังว่าจะมีความสืบเนื่อง จิตใจเลยคิดในแง่ของเวลา และหากมีความสืบเนื่องของเวลาจริง มันก็ไม่หวาดกลัวอีก

อะไรคือความเป็นอมตะ? ความสืบเนื่องของ "ฉัน" คือสิ่งที่เราเรียกว่าความอมตะ เป็น "ฉัน" ในระดับสูงขึ้นไปอีก คุณหวังว่า "ฉัน"จะดำรงอยู่ต่อเนื่องไป ฉันยังคงอยู่ในข่ายของความคิด ใช่ไหม? คุณคิดถึงมัน ไม่ว่าคุณจะคิดให้ฉันเลิศลอยสูงส่งเพียงไรก็ตาม มันก็ยังคงเป็นผลผลิตของความคิดอยู่ดี และนั่นคือเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว มันเกิดจากกาลเวลา ขอพวกคุณอย่าคิดตามผมอย่างเป็นเหตุเป็นผลเท่านั้น แต่มองให้เห็นความสำคัญอย่างเต็มที่ของมัน ที่จริงแล้วความเป็นอมตะไม่เกี่ยวข้องกับเวลา มันจึงไม่เกี่ยวกับจิตใจด้วย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาของฉัน การเรียกร้องต้องการของฉัน ความกลัวของฉัน การเร่งเร้าของฉัน

เราเห็นว่าชีวิตมีการสิ้นสุด เป็นการสิ้นสุดอย่างฉับพลัน สิ่งที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อวานนี้อาจไม่มีชีวิตอยู่แล้วในวันนี้ และสิ่งที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้อาจจะไม่มีชีวิตในวันพรุ่งนี้ ชีวิตมีการสิ้นสุดอย่างแน่นอน มันเป็นข้อเท็จจริง แต่เราจะไม่ยอมรับมัน ตัวคุณต่างไปจากเมื่อวานนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่าง หลายสัมผัส ปฏิกิริยา การผลักไส การต่อต้าน อิทธิพล ที่มาเปลี่ยนแปลง "สิ่งที่เคยเป็นเช่นนั้น" หรือทำให้มันสิ้นสุดลง มนุษย์ผู้สร้างสรรค์อย่างแท้จริงนั้นต้องมีจุดจบ และเขาก็ยอมรับมัน แต่เราไม่ยอมรับเพราะจิตใจของเราคุ้นเคยเหลือเกินกับกระบวนการสะสม เราพูดว่า "วันนี้ฉันได้เรียนสิ่งนี้" "เมื่อวานนี้ฉันเรียนสิ่งนั้น" เราคิดในแง่ของเวลาเท่านั้น ในแง่ของการสืบเนื่องเท่านั้น หากเราไม่คิดในแง่ของความสืบเนื่อง ก็จะต้องมีจุดสิ้นสุด มีการตาย แล้วเราจะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน ง่ายๆ ตรงๆ อย่างที่มันเป็น

เราไม่ยอมรับความจริงเรื่องการสิ้นสุดเพราะจิตใจของเราแสวงหา หาความสืบเนื่อง หาความมั่นคงในครอบครัว ในทรัพย์สมบัติ ในวิชาชีพของเรา ในงานใดๆ ก็ตามที่เราทำ ด้วยเหตุนี้เราจึงหวาดกลัว มีเพียงจิตใจที่เป็นอิสระจากการติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง อิสระจากความปรารถนาที่จะสืบเนื่อง อิสระจากกระบวนการสืบเนื่องเท่านั้นที่จะรู้ว่าความเป็นอมตะคืออะไร แต่จิตใจที่แสวงหาความเป็นอมตะส่วนตัว ฉันที่ต้องการอยู่อย่างสืบเนื่อง จะไม่มีวันรู้ว่ามตภาพเป็นอย่างไร จิตเช่นนั้นจะไม่รู้ถึงความสำคัญของความกลัวและความตาย และไม่อาจอยู่พ้นไปจากนี้


บรรยายให้นักศึกษาที่ ราชกัต
๒๒ มกราคม ๑๙๕๔


คำถาม : ทำไมคนเราจึงกลัวความตาย?


กฤษณมูรติ : คุณถามคำถามนี้ขึ้นมา "ทำไมเราจึงกลัวความตาย?" คุณรู้หรือว่าความตายคืออะไร? คุณเห็นใบไม้สีเขียวหรือเปล่า มันมีชีวิตอยู่ตลอดฤดูร้อน โบกไสวในสายลม ดูดซับแสงอาทิตย์ สายฝนชำระล้างมันจนสะอาด และเมื่อถึงฤดูหนาว ใบไม้นั้นก็เหี่ยวแห้งและตายไป นกที่กำลังบินอยู่นั้นก็สวยงาม แต่มันเองก็ต้องร่วงโรยและตายไปเช่นกัน คุณเห็นร่างมนุษย์ที่ถูกหามไปเผายังฝั่งน้ำ คุณจึงรู้ว่าความตายคืออะไร ทำไมคุณจึงกลัวมัน? เพราะคุณมีชีวิตอยู่เหมือนใบไม้ เหมือนนก แล้วก็มีโรคภัยไข้เจ็บหรืออะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับคุณ และคุณก็จบชีวิต คุณเลยพูดว่า "ฉันต้องการมีชีวิตอยู่ ฉันต้องการมีความสุขสนุกสนาน ฉันอยากให้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตดำเนินต่อไปในตัวฉัน" ดังนั้น การกลัวความตายก็คือการกลัวที่จะไปถึงจุดจบ ใช่ไหม? การเล่นคริกเก็ต มีความสุขกับแสงแดด มองแม่น้ำ สวมเสื้อตัวเก่า อ่านหนังสือ พบปะเพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้ถึงกาลสิ้นสุดลง คุณจึงพรั่นพรึงความตาย

การประหวั่นพรั่นพรึงความตาย และรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้เราคิดว่าจะไปพ้นจากความตายได้อย่างไร เราจึงมีทฤษฎีมากมาย ทว่าหากเรารู้จักการสิ้นสุด ก็จะปราศจากความกลัว หากเรารู้ว่าจะตายไปอย่างไรในแต่ละวัน ก็จะไม่มีความกลัว คุณเข้าใจไหม? มันออกจะไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลอยู่บ้าง เราไม่รู้ว่าจะตายอย่างไรเพราะเราเก็บสะสมอยู่เสมอ เก็บ เก็บ เก็บ เรามักจะคิดถึงวันพรุ่งนี้อยู่ตลอดเวลา "ตอนนี้ฉันเป็นอย่างนี้ ต่อไปฉันจะเป็นอย่างนั้น" เราไม่เคยเลยที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันหนึ่ง เราไม่เคยมีชีวิตอยู่ประหนึ่งว่ามีเพียงวันเดียวให้เราดำรงชีวิต คุณเข้าใจไหมว่าผมกำลังพูดถึงอะไร? เรามักจะมีชีวิตอยู่กับวันพรุ่งนี้หรือวันวานนี้เสมอ หากมีใครบอกคุณว่าคุณกำลังจะตายเมื่อสิ้นสุดวัน คุณจะทำอย่างไร? คุณจะไม่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าสำหรับวันนั้นหรอกหรือ? เราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเต็มเปี่ยมในวันหนึ่งๆ เรามิได้บูชาวันนั้น เรามักคิดอยู่เสมอว่าเราจะทำอะไรในวันพรุ่งนี้ คิดถึงการเล่นคริกเก็ตที่จะสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ คิดถึงการสอบในหกเดือนข้างหน้า คิดถึงอาหารที่เรากินว่ามันอร่อยอย่างไร คิดถึงแบบของเสื้อผ้าที่เราจะซื้อ ต่างๆ เหล่านี้ เรามักคิดถึงพรุ่งนี้หรือวานนี้เสมอ เราจึงไม่เคยมีชีวิตอยู่เลย เรากำลังตายอยู่อย่างแท้จริง ในความหมายที่ไม่ถูกต้อง

หากเรามีชีวิตอยู่กับวันหนึ่งๆ จนสิ้นวันนั้นแล้วเริ่มวันใหม่ราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่ใหม่ สด เราจะไม่กลัวความตาย การตายไปในแต่ละวันจากสรรพสิ่งที่เราได้รับมา จากความรู้ทั้งหมด ความทรงจำทั้งหมด การต่อสู้ดิ้นรนทั้งหมด ไม่นำมันไปในวันพรุ่งนี้ด้วย ในนี้เองมีความงาม แม้จะมีการสิ้นสุด แต่ก็มีการเกิดขึ้นใหม่
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

Re: กฤษณะมูรติ : ความตาย

Post by Nadda »

จาก คำบรรยายว่าด้วยการมีชีวิตอยู่ ชุดที่สอง

ความกลัวตาย

บนผืนดินสีแดงที่หน้าบ้าน มีดอกไม้รูปร่างเหมือนทรัมเป็ตใจกลางดอกสีทองจำนวนมาก มันมีกลีบใหญ่สีม่วงสด มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในช่วงกลางวันมันอาจจะถูกกวาดทิ้งไป แต่ในท่ามกลางความมืดมิดยามรัตติกาลมันก็จะปกคลุมผืนดินสีแดงใหม่ ไม้เลื้อยต้นนี้แข็งแรงมีใบเป็นหยักๆสะท้อนแสงอาทิตย์ยามเช้าวาววับ เด็กบางคนเดินเหยียบย่ำดอกไม้อย่างไม่อินังขังขอบ ชายผู้หนึ่งรีบร้อนขึ้นรถยนต์ไป ไม่แม้แต่จะเหลือบตามอง คนผ่านทางเก็บขึ้นมาหนึ่งดอก ดอมดม ถือติดมือไป เพื่อที่จะขว้างทิ้งไปในไม่ช้า หญิงผู้หนึ่งซึ่งน่าจะเป็นคนรับใช้ออกมาจากบ้าน เก็บดอกไม้ แล้วติดไว้ที่ผม ดอกไม้เหล่านี้ช่างสวยงามเหลือเกิน และมันก็ช่างเหี่ยวเฉาได้รวดเร็วยิ่งนักในแสงแดด!

ผู้ถาม : ผมเคยถูกความกลัวบางอย่างรบกวนอยู่เสมอ ตอนเป็นเด็กผมเป็นคนไม่มีความมั่นใจ ขี้อาย และไวต่อความรู้สึกมาก ตอนนี้ผมกลัวความชราและความตาย ผมรู้ว่าเราทุกคนต้องตาย แต่ไม่ว่าจะใช้เหตุผลใดมาอธิบายก็ดูเหมือนไม่ได้ช่วยลดความกลัวของผมลงได้ ผมเข้าร่วมในสมาคมวิจัยทางจิต เข้าร่วมในการทรงเจ้าเข้าผี ๒-๓ ครั้ง และอ่านหนังสือที่คุรุผู้ยิ่งใหญ่เคยพูดถึงความตายเอาไว้ แต่ความกลัวตายก็ยังคงอยู่ ผมเคยลองกระทั่งการวิเคราะห์ทางจิต แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเช่นกัน ความกลัวนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับผม ผมตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะความฝันที่น่ากลัว ความฝันทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความตายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมกลัวความรุนแรงและความตายจนผิดปกติ ฝันร้ายที่เกิดขึ้นติดต่อกันมักเกี่ยวข้องกับสงคราม และตอนนี้ผมรู้สึกไม่เป็นสุขจริงๆ ผมทำมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อควบคุมความกลัวนี้ ผมเคยลองวิ่งหนีมัน แต่ถึงที่สุดของการหลบหนี ผมก็ไม่สามารถสลัดมันทิ้งไปได้ ผมเคยไปฟังบรรยายที่ค่อนข้างเขลาเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด ๒-๓ ครั้ง และเคยศึกษาวรรณกรรมฮินดูและพุทธเกี่ยวกับความตายมาบ้าง แต่ทั้งหมดนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจเลย อย่างน้อยก็สำหรับผม ผมไม่ได้กล้วความตายเพียงผิวเผินเท่านั้น แต่นี่เป็นความกลัวที่ฝังลึกมาก

กฤษณมูรติ : คุณมีท่าทีในการเข้าหาอนาคต วันพรุ่งนี้ และความตายอย่างไร? คุณพยายามค้นหาความจริงแท้ของเรื่องนั้นๆ หรือว่าคุณกำลังเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ยืนยันในความต่อเนื่องสมใจคุณ หรือล้มล้างความเชื่อนี้? คุณต้องการความจริงแท้หรือต้องการเพียงคำตอบที่ทำให้คุณสบายใจ?

ผู้ถาม : พอคุณพูดเช่นนี้ ผมเลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วผมกลัวอะไร แต่ความกลัวก็ยังคงอยู่และกดดันผม

กฤษณมูรติ : ปัญหาของคุณคืออะไร? คุณอยากจะเป็นอิสระจากความกลัวหรือเปล่า หรือคุณกำลังแสวงหาสัจจะในเรื่องความตาย?

ผู้ถาม : คุณหมายความว่าอย่างไร สัจจะในเรื่องของความตาย?

กฤษณมูรติ : ความตายเป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้ มันเป็นที่สุด และเป็นความจริง แต่คุณต้องการรู้ความจริงแท้ที่อยู่พ้นไปจากความตายใช่ไหม?

ผู้ถาม : ทุกสิ่งที่ผมได้ศึกษามา กับบางอย่างที่ปรากฏให้ผมเห็นจากการทรงเจ้าเข้าผี ทำให้เห็นชัดเจนว่าหลังความตายมีความสืบเนื่องบางประการอยู่ ความคิดในบางรูปยังคงอยู่ต่อไปซึ่งตัวคุณเองก็ยืนยันเช่นนั้น เหมือนกับการออกอากาศเสียงเพลง ถ้อยคำ และรูปภาพ ต้องมีเครื่องรับสัญญาณที่ปลายทาง ความคิดที่ยังคงอยู่หลังความตายก็เช่นกัน ต้องการเครื่องมือที่ใช้ในการแสดงออก เครื่องมือนั้นอาจจะเป็นร่างทรง หรือความคิดอาจจุติขึ้นใหม่ในรูปลักษณ์อื่น เหล่านี้ชัดเจนมากและสามารถทดสอบและเข้าใจได้ แม้ว่าผมจะสืบสวนลงลึกในเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีความกลัวที่หยั่งไม่ถึงซึ่งผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับความตายอย่างแน่นอน

กฤษณมูรติ : ความตายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความสืบเนื่องอาจสิ้นสุดลงได้ หรืออาจได้รับการถนอมและประคับประคองไว้ สิ่งซึ่งมีความสืบเนื่องไม่มีวันทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งใหม่ได้ มันไม่มีทางเป็นสิ่งใหม่ ไม่มีวันเข้าใจสิ่งไม่รู้ ความสืบเนื่องเป็นระยะของเวลา และสิ่งซึ่งคงอยู่ชั่วกัลปาวสานต์นั้นหาได้เป็นอิสระจากกาลเวลาไม่ เมื่อต้องอาศัยเวลา ซึ่งเป็นช่วงกาล จึงไม่อาจเป็นอิสระจากเวลาได้ จึงจำเป็นต้องมีการสิ้นสุดเพื่อสิ่งใหม่จะได้เกิด สิ่งใหม่มิได้มีอยู่ภายในความสืบเนื่องของความคิด ความคิดเป็นการเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลา ไม่อาจมีภาวะของการเป็นอยู่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเวลาอยู่ในการเคลื่อนไปนี้ได้ ความคิดเกิดขึ้นมาจากอดีต การเป็นอยู่ของมันจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเวลา กาลเวลามิใช่เป็นเพียงลำดับที่ต่อเนื่องไปเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการคิดที่เคลื่อนจากอดีตผ่านปัจจุบันไปยังอนาคตด้วย เป็นกระบวนการเคลื่อนไปของความทรงจำ ของถ้อยคำ ภาพ สัญลักษณ์ บันทึก การทำซ้ำ ความคิดและความทรงจำดำรงอยู่ต่อเนื่องไปโดยอาศัยถ้อยคำและการตอกย้ำ การสิ้นสุดของความคิดคือการเริ่มต้นของสิ่งใหม่ การตายไปของความคิดคือนิรันดรภาพของชีวิต จึงต้องมีการสิ้นสุดอยู่ตลอดเวลาเพื่อสิ่งใหม่จะได้เกิด สิ่งที่ใหม่นั้นไม่มีความสืบเนื่อง สิ่งใหม่ไม่มีวันที่จะอยู่ในขอบเขตของเวลาได้ สิ่งใหม่อยู่ได้เฉพาะในความตายไปในแต่ละขณะเท่านั้น จึงต้องมีความตายในทุกวันเพื่อสิ่งไม่รู้จะได้ปรากฏ การสิ้นสุดจึงเป็นการเริ่มต้น ทว่าความกลัวขัดขวางมิให้เกิดการสิ้นสุดขึ้น

ผู้ถาม : ผมรู้ว่าผมกลัว และผมก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่พ้นไปจากมัน

กฤษณมูรติ : ความกลัวสำหรับพวกเราหมายถึงอะไร? อะไรคือความกลัว? ความกลัวมิใช่ภาวะนามธรรม มันมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ อย่างโดดๆ มันเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับอะไรบางอย่างเท่านั้น ความกลัวได้แสดงตัวออกมาในกระบวนการแห่งสัมพันธภาพ จึงไม่มีความกลัวที่แยกออกไปโดยไม่มีความสัมพันธ์ได้ ทีนี้คุณกลัวอะไรเล่า? คุณบอกว่าคุณกลัวความตาย ความตายสำหรับพวกเราหมายถึงอะไร? แม้ว่าเราจะมีทฤษฎีและการคาดเดามากมาย ทั้งยังมีข้อเท็จจริงที่สังเกตได้บางอย่าง ความตายก็ยังคงเป็นสิ่งไม่รู้อยู่ดี ไม่ว่าเราจะรู้อะไรเกี่ยวกับความตายก็ตาม ก็ไม่อาจนำความตายมาสู่ขอบเขตของสิ่งรู้ได้ เราอาจจะเอื้อมมือออกไปไขว่คว้าหามัน แต่มันก็ยังไม่ใช่อยู่ดี ความข้องเกี่ยวสัมพันธ์เป็นสิ่งรู้ แต่เราไม่สามารถทำให้สิ่งไม่รู้เป็นที่คุ้นเคยได้ นิสัยความเคยชินไม่อาจจับยึดมันไว้ได้ จึงยังมีความกลัวอยู่

สิ่งรู้ จิตใจ สามารถที่จะเข้าใจลึกซึ้งหรือนำสิ่งไม่รู้เข้ามาอยู่ในขอบเขตของมันได้หรือ? มือที่ยื่นออกไปรับเอามาได้เพียงสิ่งที่สามารถรู้ได้เท่านั้น มันไม่อาจไขว่คว้าสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้มา ความอยากมีประสบการณ์ก็คือการมอบความสืบเนื่องให้ความคิด การอยากมีประสบการณ์ก็คือการให้ความแข็งแกร่งแก่อดีต การอยากมีประสบการณ์ก็คือการส่งเสริมให้สิ่งรู้ยืดขยายออกไป คุณต้องการมีประสบการณ์ในความตายมิใช่รึ? คุณต้องการรู้ว่าความตายคืออะไร ทั้งๆ ที่คุณยังมีชีวิตอยู่ แต่คุณรู้แล้วหรือว่าการมีชีวิตอยู่คืออะไร? คุณรู้จักชีวิตเพียงแค่ว่ามันคือความขัดแย้ง ความสับสน ความเป็นปรปักษ์ ความเบิกบานเพียงชั่วครู่ชั่วยามและความเศร้าโศก แต่นั่นหรือคือชีวิต? การต่อสู้ดิ้นรนและความเศร้าโศกคือชีวิตหรือ? ในสภาวะที่เราเรียกว่าชีวิตนี้ เราต้องการมีประสบการณ์บางอย่างที่ไม่อยู่ในขอบเขตของจิตสำนึกเรา ความเจ็บปวดนี้ การต่อสู้นี้ ความสนุกสนานที่ห่อหุ้มความเกลียดชังไว้ คือสิ่งที่เราเรียกว่าการมีชีวิตอยู่ และเราก็ต้องการมีประสบการณ์ในสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเรียกว่าการมีชีวิตอยู่ สิ่งตรงข้ามที่ว่านั้นก็คือความสืบเนื่องของสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งบางทีอาจมีการดัดแปลงเปลี่ยนไป แต่ความตายมิใช่สิ่งตรงข้าม มันเป็นสิ่งไม่รู้ สิ่งรู้กระหายใคร่มีประสบการณ์ในความตาย ซึ่งเป็นสิ่งไม่รู้ ทว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม มันก็ไม่มีทางลิ้มรสความตายได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงหวาดกลัว ใช่ไหม?

ผู้ถาม : คุณได้พูดมาอย่างชัดเจนแล้ว ถ้าเพียงแต่ผมได้รู้หรือมีประสบการณ์ว่าความตายคืออะไรในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แน่นอนว่าความกลัวต้องสิ้นสุดลง

กฤษณมูรติ : เพราะคุณไม่อาจสัมผัสรับรู้ถึงความตายได้ คุณจึงกลัวมัน จิตสำนึกจะสามารถรับรู้ได้ถึงสภาวะที่ไม่อาจนำมาสู่ความมีอยู่เป็นอยู่ โดยอาศัยจิตสำนึกได้หรือ? สิ่งซึ่งสามารถประสบได้คือภาพฉายของจิตสำนึก เป็นสิ่งรู้ สิ่งรู้สามารถรับรู้ได้เฉพาะในสิ่งรู้เท่านั้น ประสบการณ์นั้นอยู่ภายในขอบเขตของสิ่งรู้เสมอ สิ่งรู้ไม่อาจสัมผัสรับรู้ในสิ่งที่อยู่พ้นไปจากขอบเขตของมันได้ การสัมผัสรับรู้นั้นต่างจากประสบการณ์ การสัมผัสรับรู้ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของผู้รับรู้ แต่เมื่อการสัมผัสรับรู้เลือนหายไป ผู้รับรู้และประสบการณ์จึงมีอยู่ จากนั้นการสัมผัสรับรู้จึงถูกนำเข้ามาสู่ขอบเขตของสิ่งรู้ ผู้รู้ ผู้รับรู้ กระหายใคร่ได้สภาวะแห่งการสัมผัสรับรู้ในสิ่งไม่รู้ และในฐานะที่เป็นผู้รับรู้ เป็นผู้รู้ เขาไม่สามารถเข้าสู่สภาวะแห่งการสัมผัสรับรู้ได้ เขาจึงหวาดกลัว เขาคือความกลัว เขามิได้แยกขาดจากมัน ผู้รับรู้ในความกลัวมิใช่ผู้สังเกตการณ์ความกลัว เขาเอง คือ ความกลัว เป็นตัวที่ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาโดยแท้

ผู้ถาม : ความกลัวของคุณหมายถึงอะไร? ผมรู้ว่าผมกลัวความตาย ผมไม่รู้สึกว่าผมเองคือความกลัว แต่ผมหวาดกลัวในอะไรบางอย่าง ผมกลัว และตัวผมก็แยกจากความกลัว ความกลัวเป็นผัสสาการที่แตกต่างจาก "ผม" ผู้ซึ่งกำลังมองดูมัน วิเคราะห์มัน ผมเป็นผู้สังเกต และความกลัวเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต ผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตจะเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร?

กฤษณมูรติ : คุณบอกว่าคุณเป็นผู้สังเกตและความกลัวเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต ทว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? คุณคือองคภาวะที่แยกขาดจากคุณลักษณะของตัวคุณหรือ? คุณมิได้เป็นหนึ่งเดียวกับคุณลักษณะของคุณหรอกหรือ? คุณมิใช่ความคิด อารมณ์ และสิ่งต่างๆ ของตัวคุณเองหรอกหรือ? คุณไม่ได้แยกขาดจากคุณลักษณะของคุณและความคิดของคุณเลย คุณ เป็น ความคิดของคุณ ความคิดสร้าง "คุณ" ตัวตนที่คิดเอาเองว่าแยกขาดจากกันขึ้นมา หากปราศจากความคิด ผู้คิดก็ไม่มีอยู่ ด้วยการมองเห็นอนิจจังของตัวเอง ความคิดก็ได้สร้างผู้คิดขึ้นมาให้เป็นสิ่งถาวร สิ่งยืนยง จากนั้นผู้คิดก็จะกลายเป็นผู้มีประสบการณ์ ผู้วิเคราะห์ ผู้สังเกตที่แยกขาดจากสิ่งที่ไม่ยืนยง เราล้วนกระหายใคร่ได้ความคงทนถาวรแบบใดแบบหนึ่ง และด้วยการมองเห็นความไม่คงทนของตนเอง ความคิดก็ได้สร้างผู้คิดขึ้น ผู้ที่ถูกทึกทักเอาว่ามีความยั่งยืน จากนั้นผู้คิดก็ดำเนินการสร้างสภาวะความยั่งยืนอันสูงส่งแบบอื่นๆ ขึ้นมาอีก ได้แก่ วิญญาณ อาตมัน ปรมาตมัน เหล่านี้เป็นต้น ความคิดคือที่มาของโครงสร้างทั้งหมดนี้ แต่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรากำลังพิจารณากันในเรื่องความกลัว อะไรคือความกลัว? ขอให้เราดูว่ามันคืออะไร

คุณพูดว่าคุณกลัวความตาย เนื่องจากคุณไม่อาจมีประสบการณ์ในความตายได้คุณจึงกลัวมัน ความตายเป็นสิ่งไม่รู้ และคุณก็กลัวสิ่งไม่รู้ ใช่ไหม? ทีนี้ คุณสามารถกลัวในสิ่งที่คุณไม่รู้จักได้ไหม? หากมีอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งที่คุณไม่รู้จัก คุณจะกลัวมันได้อย่างไรเล่า? แท้จริงแล้วคุณมิได้กลัวสิ่งซึ่งไม่รู้ มิได้กลัวความตาย หากแต่กลัวสูญเสียสิ่งที่คุณรู้ไป เพราะนั่นอาจทำให้เจ็บปวด หรือพรากความสุขความพึงใจ ความอิ่มเอมใจไปจากคุณ สิ่งรู้ต่างหากที่เป็นเหตุแห่งความกลัว มิใช่สิ่งไม่รู้ สิ่งไม่รู้จะทำให้เกิดความกลัวได้อย่างไรเล่า? มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจวัดได้ในแง่ของความพึงพอใจและความเจ็บปวด มันเป็นความไม่รู้

ความกลัวไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง มันมาโดยสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่าง แท้จริงแล้วคุณกลัวสิ่งรู้โดยสัมพันธ์กับความตาย ใช่ไหม? เพราะคุณติดยึดอยู่กับสิ่งรู้ กับประสบการณ์ คุณจึงหวาดกลัวสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ "สิ่งที่อาจเกิดขึ้น" หรืออนาคตนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยา เป็นการคาดเดา ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ เป็นอยู่ อย่างนั้นใช่ไหม?

ผู้ถาม : ใช่ ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น

กฤษณมูรติ : แล้วคุณรู้จักสิ่งที่ เป็นอยู่ ไหม? คุณเข้าใจมันหรือเปล่า? คุณเคยได้เปิดตู้ของสิ่งรู้แล้วมองเข้าไปดูมันหรือเปล่า? มิใช่ว่าคุณกลัวสิ่งที่คุณอาจพบในนั้นด้วยหรอกรึ? คุณเคยสืบค้นสิ่งรู้ สิ่งที่คุณครอบครองอยู่หรือเปล่า?

ผู้ถาม : ไม่ ผมไม่เคยทำ ผมถือเสมอว่าสิ่งรู้เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญอะไร ผมยอมรับอดีตเหมือนกับที่คนเรายอมรับในแสงแดดหรือสายฝน ผมไม่เคยคำนึงถึงมัน เราไม่เคยสำนึกถึงมันเหมือนที่คนเราไม่สำนึกถึงเงาของตนเอง พอคุณกล่าวเช่นนั้น ผมจึงเข้าใจว่าผมกลัวที่จะพบสิ่งที่อาจอยู่ที่นั่นด้วย

กฤษณมูรติ : เราทุกคนมิได้กลัวที่จะมองดูตัวเองหรอกหรือ? เราอาจพบสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ เราจึงไม่มองเสียดีกว่า เราพอใจที่จะไม่รู้ในความเป็นเช่นนั้น เราไม่เพียงแต่กลัวสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยังกลัวสิ่งที่อาจเป็นอยู่ในตอนนี้ด้วย เรากลัวที่จะรู้จักตัวเองอย่างที่เราเป็น และการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอยู่นี้ก็ทำให้เรากลัวสิ่งที่อาจเป็น เราเข้าหาสิ่งที่เรียกว่าสิ่งรู้ด้วยความกลัว รวมทั้งความตายซึ่งเป็นสิ่งไม่รู้ด้วย การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอยู่ก็คือการปรารถนาความอิ่มเอมใจ เราแสวงหาความมั่นคง เรียกร้องต้องการตลอดเวลาไม่ให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรครบกวน และความปรารถนามิให้สิ่งใดมารบกวนนี้เอง ทำให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอยู่และกลัวในสิ่งซึ่งอาจเป็น ความกลัวคือความไม่รู้ในสิ่งที่เป็นอยู่ และเราก็ใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่มีความกลัวอยู่เสมอ

ผู้ถาม : แล้วเราจะกำจัดความกลัวได้อย่างไร?

กฤษณมูรติ : การที่จะกำจัดอะไรบางอย่างได้นั้น คุณต้องเข้าใจมัน มีความกลัวอยู่หรือเปล่า หรือมีเพียงความไม่ปรารถนาจะเห็น? ความไม่ปรารถนาที่จะเห็นนำมาซึ่งความกลัว และเมื่อคุณไม่ต้องการเข้าใจถึงคุณค่าความหมายของสิ่งซึ่งเป็นอยู่ ความกลัวก็ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน คุณสามารถใช้ชีวิตตามที่คุณปรารถนาได้ ด้วยการจงใจหลีกเลี่ยงการสืบสวนทั้งมวล เพื่อค้นหาความจริงในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ หลายคนทำเช่นนี้ แต่พวกเขาก็ไม่มีความสุข พวกที่ศึกษาสิ่งซึ่งมีอยู่เป็นอยู่แต่เพียงผิวเผินเป็นการหย่อนใจก็หามีความสุขไม่ มีแต่ผู้ที่ตั้งใจจริงจังในการสืบค้น จึงอาจตระหนักถึงความสุขได้ และมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่เป็นอิสระจากความกลัว

ผู้ถาม : แล้วเราจะเข้าใจสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ได้อย่างไร?

กฤษณมูรติ : เราจะเห็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ได้ในกระจกแห่งสัมพันธภาพ ในความสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง สิ่งที่เป็นอยู่ไม่อาจเข้าใจได้โดยการปลีกเร้นตน โดยการแยกตัวโดดเดี่ยว ไม่อาจเข้าใจได้หากมีผู้ตีความ มีผู้แปล ที่ปฏิเสธหรือยอมรับมัน สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่สามารถเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อจิตใจวางเฉย ไม่กระทำการใดๆ ต่อสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่

ผู้ถาม : ไม่เป็นการยากเย็นแสนเข็ญหรอกหรือ ที่จะตระหนักรู้ด้วยอาการวางเฉย?

กฤษณมูรติ : ยากยิ่ง ตราบใดที่ยังมีความคิดอยู่


ซีแอตเติล
๓ สิงหาคม ๑๙๕๐


ผู้ถาม : อะไรคือความตายที่เราควรกลัว?

กฤษณมูรติ : คุณรู้หรือว่าความตายคืออะไร? คุณไม่กลัวความตายหรือ?

ผู้ถาม : รู้

ผู้ถาม : ไม่กลัว

กฤษณมูรติ : คุณไม่กลัวว่าจะถึงจุดจบหรือ? ถ้างั้นคุณก็ต้องเบื่อหน่ายชีวิตมาก! อะไรคือความตายเล่า หากไม่ใช่การสิ้นสุด? คุณไม่กลัวหรอกหรือที่จะพรากจากความทรงจำทั้งหมด ประสบการณ์ทั้งหมด จากคนที่คุณรัก ทิ้งทุกสิ่งที่เป็นคุณไป?

ผู้ถาม : เราไม่รู้จักความตาย เรารู้เพียงแต่ว่าการตายของคนอื่นเป็นอย่างไร

กฤษณมูรติ : เห็นได้ชัดว่า ความตายเป็นสิ่งที่เราไม่รู้จัก เราสามารถรับรู้ได้อย่างอ้อมๆ เท่านั้น การตายคือการสิ้นสุด ทั้งในทางกายภาพและทางจิตใจ

ผู้ถาม : เราไม่ได้เป็นกังวลกับเรื่องความตาย แต่กังวลกับเรื่องการกลัวตาย

กฤษณมูรติ : ถ้าเช่นนั้นให้เราพิจารณาปัญหานี้ร่วมกัน ให้เราสัมผัสมัน สำรวจมันร่วมกัน

เรากลัวความตาย เราไม่ได้กลัวสิ่งที่เรารู้จักอย่างแน่นอนและถ่องแท้ ความกลัวมีอยู่โดยสัมพันธ์กับสิ่งซึ่งไม่มีความแน่นอนเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เราเจ็บปวด อาจทำให้เราไม่มั่นคงปลอดภัย ความตายคือความไม่แน่นอน และนั่นคือเหตุผลที่เรากลัวมัน หากเราสามารถรู้ขอบเขตทั้งหมด ความหมายทั้งหมดทั้งสิ้นของความตาย รู้ความสำคัญทั้งหมดของสิ่งที่อยู่พ้นไปจากความตาย เมื่อนั้นเราก็จะไม่กลัว ใช่ไหม? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าความตายคืออะไร? ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เราจะรู้จักความตายได้อย่างไรเล่า?

ผู้ถาม : เราจะรู้จักมันได้อย่างไรโดยไม่ต้องประสบกับมัน?

กฤษณมูรติ : เราจะเห็นกันในนาทีนี้ ช่างยากเย็นเหลือเกินสำหรับพวกเราที่จะเข้าใจวิถีของจิตใจ จิตใจอยากทำให้สิ่งไม่รู้กลายเป็นสิ่งรู้ และนั่นก็คือปัญหาอย่างหนึ่งของเรา จิตใจพูดว่า "ถ้าฉันไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่พ้นไปจากความตาย ฉันก็คงรู้สึกหวาดหวั่น แต่ถ้าเธอสร้างความมั่นใจให้ฉันได้ว่ามีความสืบเนื่องอยู่ ฉันก็จะเลิกกลัว" จิตใจกำลังแสวงหาความแน่นอน แต่ตราบใดที่เราแสวงหาความแน่นอนก็ต้องมีความกลัวอยู่ สิ่งที่เรากลัวมิใช่ความตาย แต่เรากลัวความไม่แน่นอน เราจะเป็นปกติสุขได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเท่านั้น หากไร้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยแล้ว เราก็หวาดกลัว ดังนั้นหากเราสามารถค้นพบว่าอะไรคือความตาย เราก็จะปราศจากความกลัว

ผู้ถาม : ถ้าผมคิดว่าความตายเป็นการสิ้นสุด ผมจะมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้อย่างไร ตราบใดที่ผมยังต้องการความสืบเนื่องอยู่ ? หรือในอีกด้านหนึ่ง ผมจะขจัดความปรารถนาในความแน่นอนได้อย่างไร?

กฤษณมูรติ : เราสามารถขจัดมันได้เมื่อเราตระหนักว่าไม่มีความแน่นอนอยู่เท่านั้น

ผู้ถาม : แต่เราต้องการแน่ใจในอนาคต

กฤษณมูรติ : แล้วเราจะแน่ใจได้หรือ? เราต้องการแน่ใจว่าเราเคยมีชีวิตอยู่ในอดีต ว่าเราจะมีความสืบเนื่องต่อไปในอนาคต เราอาจอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาทั้งหมด เราสามารถรับฟังประสบการณ์ของผู้อื่น และหาความมั่นใจจากคนทรง แต่นั่นจะทำให้เราเป็นอิสระจากความกลัวหรือ? ตราบใดที่เรายังแสวงหาความแน่นอนอยู่ เราย่อมต้องกลัวความไม่แน่นอน ได้โปรด นี้ไม่ใช่ปริศนา การแสวงหาสิ่งตรงข้าม หาสิ่งที่ค้านกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยง ที่จะวิ่งหนีไปจากสิ่งที่เราเป็น ทำให้เกิดความกลัวขึ้น ใช่ไหม? ดังนั้นเราต้องเข้าใจให้ชัดว่าความกลัวคืออะไร อะไรเล่าคือความกลัว?

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตายนั้นมีอยู่ และเราก็บอกว่าเรากลัวข้อเท็จจริงอันนั้น ความกลัวเกิดขึ้นมาเพราะข้อเท็จจริงนั้นหรือเพราะคำว่า ความตาย หรือว่ามันเป็นผัสสารมณ์ที่อิสระจากถ้อยคำ? เราตอบสนองต่อถ้อยคำ บรรดาถ้อยคำต่างๆ อย่างคำว่า พระเจ้า ความรัก ลัทธิคอมมูนิสต์ ประชาธิปไตย สร้างความหงุดหงิดหวาดกลัวและการสนองตอบทางจิตใจขึ้นในตัวเราอย่างชัดเจน ใช่หรือไม่? เมื่อเราเชื่อใน "พระเจ้า" และพูดถึง "พระองค์ท่าน" เรารู้สึกดีขึ้น ถ้อยคำเช่น ความตาย ความเกลียดชัง เยอรมัน รัสเซีย ฮินดู และ นิโกร เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญลึกซึ้งเป็นพิเศษต่อเรา ดังนั้น เราต้องค้นหาให้ได้ว่าความรู้สึกที่เราเรียกว่าความกลัวนั้นคือภาวะที่เป็นจริงหรือไม่ หรือมันเป็นเพียงผลของถ้อยคำที่เราใช้เท่านั้น

ผู้ถาม : ความหมายที่เราให้กับถ้อยคำเป็นภาวะจริง

กฤษณมูรติ : ให้เรามาพิจารณาดู หากเราตั้งใจจริงที่จะเป็นอิสระจากความกลัว เราต้องค้นหาให้ได้ว่าอะไรคือท่าทีที่ถูกต้องในการเข้าหามัน เราอาจเห็นปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรากลัวสิ่งที่เรียกว่าความตาย แต่ผมสงสัยว่าไม่มีสาเหตุอื่นอีกแล้วหรือ เป็นไปได้ไหมที่คำว่า ความตาย นี้มิได้เป็นต้นเหตุแห่งความกลัวของเราเพราะความหมายของมัน หรือเพราะมันกระตุ้นให้เกิดความคิดอื่นขึ้นในจิตใจเรา? ขอให้คิดตามผม แล้วเราจะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น คำว่า ความตาย โดยตัวของมันมิใช่ความตาย กระนั้นมันก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราใช่ไหม?

ผู้ถาม : ในถ้อยคำมีความหมายถึงการสิ้นสุด

กฤษณมูรติ : ใช่ รวมทั้งความกลัวในเรื่องเชื้อชาติ วรรณะ กลัวในปัจเจก จิตใจของเราถูกกำหนดครอบงำไว้ ไม่เพียงแต่โดยคำๆ นั้นเท่านั้น แต่โดยถ้อยคำจำพวก ทุนนิยม ฟาสซิสต์ สันติภาพ สงคราม และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างนั้นมิใช่หรือ? ถ้อยคำ สัญญลักษณ์ ภาพพจน์ มีความสำคัญอย่างเหลือเกินสำหรับเรา สำคัญมากกว่าข้อเท็จจริงเสียด้วยซ้ำไป เพราะเราไม่อาจคิดโดยปราศจากถ้อยคำได้ ถ้อยคำคือภาพพจน์ คือสัญญลักษณ์ และการคิดของเราก็คิดออกมาเป็นถ้อยคำ เป็นสัญญลักษณ์ เป็นภาพพจน์ เป็นฉลาก หากเราไม่มีภาพ ไม่มีสัญลักษณ์หรือถ้อยคำ เราอาจไม่มีความทรงจำก็ได้ใช่ไหม? ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกกลัวจึงมิใช่ข้อเท็จจริงในเรื่องความตาย แต่เป็นคำว่า ความตาย ไม่ใช่หรือ? เรายังเห็นด้วยว่า ความกลัวผุดขึ้นมาเมื่อจิตใจ ซึ่งคุ้นชินกับความแน่นอน ต้องมาเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน เมื่อจิตใจซึ่งเป็นผลของสิ่งรู้ ซึ่งเป็นอดีต ต้องมาเผชิญหน้ากับสิ่งไม่รู้ ซึ่งเป็นอนาคต

ทีนี้คำถามต่อไปก็คือ ความรู้สึกที่เราเรียกว่าความกลัวนี้จะยังคงอยู่ไหม ถ้าเราไม่ให้ชื่อมันว่า "ความกลัว" ? ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นโดยปราศจากถ้อยคำได้ไหม?

ผู้ถาม : ถ้อยคำเป็นเพียงฉลากบอกความรู้สึก เราจำเป็นต้องให้ชื่อแก่ความรู้สึก เพราะมันเป็นทางเดียวที่เราจะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้

กฤษณมูรติ : เมื่อเราพิจารณาถึงความกลัวตาย สิ่งที่มาก่อนคือความรู้สึกหรือถ้อยคำ? ถ้อยคำนำความรู้สึกมา หรือว่าความรู้สึกไม่เกี่ยวข้องอันใดเลยกับถ้อยคำ? นี้เป็นคำถามที่สำคัญอย่างแท้จริง เพราะหากเราสามารถสืบค้นมันออกมาได้ ผมว่าเราจะเห็นอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว

เมื่อเราเผชิญกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตาย เราตั้งชื่อให้มัน และชื่อนั้นก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ซึ่งเราไม่ชอบ และทำให้เรากลัว ตอนนี้ความตายเป็นเรื่องใหม่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตายเป็นสิ่งท้าทายอย่างใหม่ ไม่ใช่หรือ? กระนั้นในทันทีที่เราตั้งชื่อให้มัน เราได้ทำให้มันกลายเป็นของเก่า เมื่อใดก็ตามที่จิตใจพบข้อเท็จจริงใหม่ เหตุการณ์ใหม่ สัมผัสรับรู้ใหม่ๆ มันก็จะติดป้ายทันที มันจะจดจำ จำแนกแยกแยะ เพราะเราคิดว่านั่นเป็นวิธีเดียวที่เรามีในการทำความเข้าใจอะไรก็ตาม คือทำให้สิ่งใหม่กลายเป็นสิ่งเก่าเสีย นั่นเป็นวิธีทำงานของจิตใจ ไม่ใช่หรือ? นั่นคือสิ่งที่เราทำในทันทีทันใดนั้น มันอาจเป็นการกระทำที่เกิดจากจิตไร้สำนึก แต่นั่นเป็นการตอบสนองของเราโดยฉับพลันทันที จิตใจไม่สามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งใหม่ได้ มันก็เลยแปลให้เป็นสิ่งเก่าอยู่เสมอ การคิด เป็นกระบวนการใช้ถ้อยคำมาอธิบาย ใช่ไหม? เมื่อเราถูกท้าทายด้วยข้อเท็จจริงที่เราเรียกว่าความตาย เราตอบสนองโดยการครุ่นคิดเกี่ยวกับมัน และการใช้ถ้อยคำมาอธิบายนั่นเองที่ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ทีนี้ปัญหาก็อยู่ตรงที่ เป็นไปได้ไหม ถ้าเราถูกท้าทายจากสิ่งที่เราเรียกขานว่า ความตาย เราจะไม่สนองตอบต่อมันตามถ้อยคำ

ผู้ถาม : ผมคงตอบว่าไม่ได้

กฤษณมูรติ : ถ้าคุณยังไม่ได้พยายาม คุณจะตอบได้อย่างไรว่า "ได้"หรือ "ไม่ได้" ? เมื่อผมตั้งคำถามนี้กับคุณ คุณกำลังถูกท้าทายโดยอะไรบางอย่าง และการตอบสนองในทันทีทันควันของคุณก็คือ พยายามค้นหาคำตอบ จิตใจของคุณเข้าสู่ปฏิบัติการ และถ้อยคำก็ออกมาทันที โปรดเฝ้าดูจิตใจของคุณเอง และคุณจะเห็นว่า เมื่อคุณถูกถามอะไรบางอย่างที่คุณไม่รู้ จิตใจจะไม่สงบนิ่งและพยายามเข้าใจสิ่งใหม่ แต่จะเริ่มดูบันทึกความทรงจำเก่าๆ เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง

ผู้ถาม : บทสรุปเชิงตรรกตามการอธิบายด้วยเหตุผลของคุณก็คือ น่าจะหยุดกระบวนการคิดเสีย

กฤษณมูรติ : โปรดเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การใช้เหตุผลมาอธิบายในเชิงตรรกะ ทว่าเป็นการสังเกตความเป็นจริง คุณจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นหากคุณประสบด้วยตัวคุณเอง เมื่อจิตใจพบสิ่งใหม่ซึ่งมันไม่มีคำตอบให้ ไร้ถ้อยคำมาอธิบาย มันจะเงียบงัน เมื่อเราเห็นอะไรบางอย่างที่ใหม่หมดจด ที่เราไม่รู้จัก ไม่อาจใช้สิ่งที่เรารู้จักแล้วมาจำแนกแยกแยะ เราก็จะไม่ตั้งชื่อให้มัน เราจะเฝ้าดูเพื่อค้นหาว่ามันคืออะไร และในภาวะของการใส่ใจเฝ้าดูนั้นจะไม่มีการใช้ถ้อยคำมาอธิบาย ทันทีที่เราเริ่มใช้ถ้อยคำ การสัมผัสรับรู้ใดๆ ก็ตามจะสิ้นสุดความใหม่ และกลายเป็นสิ่งเก่า ใช่ไหม?

ผู้ถาม : ถ้ามันเป็นของใหม่แท้ๆ ก็ไม่มีถ้อยคำใดมาใช้อธิบายได้

กฤษณมูรติ : แน่นอน ความตายก็เช่นกัน เป็นสิ่งใหม่ หากเราไม่ใช้ถ้อยคำมาอธิบายมัน แม้ว่ามันจะเป็นเพียงถ้อยคำ แต่เนื้อหาของถ้อยคำนั้น ข้อจำกัดของถ้อยคำนั้นก็หมดสิ้นลง เราจึงสามารถมองดูความตายได้ ทีนี้อะไรเล่าคือสภาวะที่จิตใจถูกสิ่งใหม่ท้าทายแล้วไม่ใช้ถ้อยคำมาอธิบายสิ่งใหม่นั้น ไม่ตอบสนองทันทีด้วยการมองดูความทรงจำเก่าๆ บันทึกเก่าๆ เพื่อค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง? จิตใจเช่นนี้ก็ใหม่ด้วยมิใช่หรือ? การตั้งเงื่อนไขเก่าๆ ตกไป ความปั่นป่วนเก่าๆ หยุดลง การค้นหาสิ้นสุด และเมื่อสิ่งท้าทายเป็นสิ่งใหม่ และจิตใจก็ใหม่ ความกลัวจะอยู่ไหนได้?

ผู้ถาม : จิตใจใหม่ แต่สิ่งท้าทายยังเป็นสิ่งเก่า แม้จะไม่มีชื่อก็ตาม

กฤษณมูรติ : ความตายเป็นสิ่งเก่าเมื่อเราจดจำมันได้เท่านั้น และเราก็จดจำมันได้โดยอาศัยถ้อยคำ โดยผ่านทางความทรงจำ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เรากำหนดขึ้นมาเอง ความตายเป็นสิ่งเก่าเพราะมันเต็มไปด้วยนัยของความกลัว ความเชื่อ การปลอบใจ และการหลบหนีอยู่ เราเข้าหามันโดยใช้สิ่งรู้เสมอ วิธีการเข้าหาของเราจึงเป็นวิธีการที่ใช้สิ่งเก่า ดังนั้นเราจึงยอมรับมันว่าเป็นความตาย แต่หากเรามีวิธีการใหม่ หากเรามาหามันด้วยจิตใจใหม่ ปลดเปลื้องสิ่งเก่าออกจนหมดสิ้น มันก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าความตายอีกต่อไป มันอาจเป็นบางสิ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ผู้ถาม : เราต้องรู้ว่าเรากำลังดูอะไรอยู่ ถึงเราจะไม่ตั้งชื่อให้มันก็ตาม

กฤษณมูรติ : นั่นคือสิ่งที่ผมเสนอให้ทำเช่นนั้น ขอให้เราพยายามค้นหาว่า เป็นไปได้ไหมที่จิตใจจะหยุดกระบวนการใช้ถ้อยคำและเพียงแต่มองดูเฉยๆ ถ้าจิตใจทำเช่นนั้นได้ สิ่งที่จิตใจกำลังมองดูอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ จะแยกออกจากจิตใจซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ด้วย หรือเปล่า ? มีการแบ่งแยกกันระหว่างสิ่งท้าทายกับผู้สังเกตซึ่งมองดูสิ่งท้าทายอยู่หรือไม่?

ผู้ถาม : ผู้สังเกตสร้างสิ่งท้าทายขึ้นมา

กฤษณมูรติ : คุณตอบคำถามเร็วเกินไป โปรดอย่าตีความสิ่งที่ผมพูดตามอำเภอใจ เพราะนั่นจะทำให้คุณพลาดที่จะเข้าใจความหมายทั้งหมดของมัน

ผู้ถาม : ถ้ามันเป็นสิ่งใหม่ทั้งคู่ เราจะบอกได้อย่างไรว่ามันเหมือนหรือต่างกัน?

กฤษณมูรติ : เมื่อจิตใจเป็นของใหม่ สิ่งท้าทายซึ่งเป็นของใหม่ด้วย จะอยู่ภายนอกจิตใจหรือ?

ปัญหายุ่งยากในเรื่องทั้งหมดนี้ก็คือ หากเราไม่ได้สัมผัสกับมันจริงๆ แล้ว มันก็มีความหมายน้อยนิดสำหรับเรา สิ่งที่ใหม่ไม่มีการตาย มันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มันไม่มีวันเป็นของเก่า มีแต่ของเก่าเท่านั้นที่กลัวการสิ้นสุดลง และหากเราสืบค้นลงไปในเรื่องนี้ให้ลุ่มลึกยิ่งกว่านี้ เราจะแลเห็นว่า จิตใจสามารถจะเป็นอิสระได้ ไม่เพียงแต่เป็นอิสระจากความกลัวตายเท่านั้น แต่เป็นอิสระจากความกลัวในทุกรูปแบบอีกด้วย

ที่มา : http://www.sanyasi.org/
Post Reply