จากตัวกูของกูถึงจิตอวิชชา-วิมุตติปฏิปทา (ปราโมทย์ สันตยาการ)

Post Reply
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

จากตัวกูของกูถึงจิตอวิชชา-วิมุตติปฏิปทา (ปราโมทย์ สันตยาการ)

Post by Nadda »

จากตัวกูของกูถึงจิตอวิชชา-วิมุตติปฏิปทา

จากตัวกู-ของกู ถึงจิตอวิชชา
จากหนังสือวิมุตติปฏิปทา ของ
เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓
(อุปสมบทเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๔ เป็นพระภิกษุปราโมทย์ ปาโมชโช
ณ ที่พักสงฆ์สวนโพธิญาณอรัญวาสี ตำบลหนองตากยา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี)

เราเคยพูดกันถึงเรื่อง ความเห็นว่าจิตเป็นเราหรือสักกายทิฏฐิ และเรื่อง ความยึดว่าจิตเป็นเรา หรือจิตเป็นตัวกู ไปคราวหนึ่งแล้ว วันนี้จะขอคุยกันต่อให้หมดเปลือกของพระพุทธศาสนากันเสียที เพราะถ้าไม่ผิดแผน...ปลายปี ๒๕๔๓ หรือต้นปีหน้า ผมก็คงไม่มีโอกาสมาคุยกับพวกเราอีกแล้ว

จิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู ยังไม่ใช่จิตอวิชชา แต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยสังโยชน์ที่เรียกว่า มานะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัสมิมานะ (การถือตัวว่านี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่นเป็นนี่) การถือเราถือเขา-พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก) หากสามารถผ่านด่านของ จิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกู แล้วจึงจะถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติ คือ จิตอวิชชา

ก่อนที่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกูกับจิตอวิชชา ผมขอทบทวนแนวทางปฏิบัติ ก่อนจะพบความยึดมั่นว่าจิตเป็นตัวเราสักเล็กน้อย

ในเบื้องต้น ให้ผู้ปฏิบัติจำแนกให้ออก ระหว่าง จิตผู้รู้ กับ อารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ แล้วรู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏ โดยจิตที่ไม่หลงเข้าไปแทรกแซง ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่ถูกรู้นั้น

การจะจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ได้ทำด้วยการเอากำลังเข้าหักหาญฉุดดึงจิตออกจากอารมณ์ แต่อาจจะเริ่มจากการทำสมถะ จนจิตเป็นหนึ่งอารมณ์เป็นหนึ่ง (สงบ) แล้วรู้ขึ้นว่า ความสงบเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้และจิตก็เป็นเพียงผู้รู้ความสงบ

ถ้าเริ่มต้นจากการทำสมถะไม่ได้ ก็ให้ใช้ปัญญา คือเฝ้าสังเกตกิเลสสักตัวหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับจิต เช่น ความสงสัย ความโกรธ ฯลฯ แล้วเฝ้ารู้อย่างใจเย็นๆ จนมันดับไป ก็จะพบว่า กิเลสเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เกิดแล้วก็ดับไปส่วนจิตเป็นผู้รู้ ผู้ดูกิเลสที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ถ้าทำคราวเดียวยังจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่ออก ก็อย่าตกอกตกใจ ให้เฝ้ารู้กิเลสที่กำลังเกิดไปเรื่อยๆ ด้วยความใจเย็น ไม่นานนักก็จะจำแนกได้ว่า อันนี้อารมณ์ที่ถูกรู้ อันนี้จิตผู้รู้อารมณ์ จากนั้น ก็เพียรมีสติ รู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏเรื่อยไปด้วยจิตที่รู้ตัวไม่เผลอ จะเห็นว่าบางคราว จิตก็อยู่คนละส่วนกับอารมณ์ บางคราวจิตก็จมอยู่กับอารมณ์ แยกกันไม่ออก หลักปฏิบัติในขั้นนี้มีอยู่อันเดียว คือให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลาง ก็จะเห็นความเกิดดับของอารมณ์ทั้งปวงเรื่อยไป

ด้วยวิธีนี้ สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะแก่กล้าไปตามลำดับ ถึงจุดหนึ่งความคิดนึกปรุงแต่งก็จะดับไป ผู้ปฏิบัติจะเกิดความรู้รวบยอดถึงความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง และรู้จักกับธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ตายเป็นครั้งแรก ถึงตรงนี้ผู้ปฏิบัติจะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว ว่าจิตเป็นเรา เพราะความเห็นจิตเป็นเรา เกิดจากความคิดนึกปรุงแต่งทั้งสิ้น

หลังจากนั้น สติปัญญาก็จะละเอียดยิ่งขึ้น ทำให้รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่ละเอียด ยิ่งขึ้นไปด้วย จะเห็นว่า ก่อนที่กิเลสจะเกิดขึ้น มันจะต้องมีผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หากกระทบแล้ว สติปัญญาตามทัน มันก็จบอยู่เพียงเท่านั้น ถ้าตามไม่ทันจะพบว่า เมื่อมีผัสสะ ก็จะมีการปรุงสัญญาคือความจำได้หมายรู้ และเวทนาขึ้นมาในจิต หากรู้ทันตรงนี้กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบอีก แต่ถ้ายังไม่ทัน สัญญาและเวทนาจะปรุงเป็นความคิดขึ้นมา ถ้ารู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบอีก แต่ถ้ารู้ไม่ทัน ตะกอนกิเลสที่อยู่ในภวังคจิตก็จะเริ่มฟุ้งขึ้นมา กิเลสจะผุดขึ้นมากลางอก ถ้ารู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่รู้ทัน กิเลสจะหลอกล่อให้จิตเกิดตัณหา เป็นแรงทะยานออกไปยึดอารมณ์ตรงนี้ถ้ารู้ทัน กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบลงอีก แต่หลังจากนั้นถ้าจิตหลงส่งทะยานออกไปยึดอารมณ์แล้ว จิตจะเกิดความเป็นตัวกูของกู ขึ้นมากระโดดโลดเต้นทันที ตรงนี้สายเสียแล้ว ที่จะพ้นจากความทุกข์เพราะความเป็นตัวตนของจิต

ผู้ปฏิบัติในชั้นนี้ ยังคงเห็นความเกิดดับของอารมณ์ ดังที่เคยเห็นมาแล้ว แต่สติปัญญาจะว่องไว และเข้าใจกลไกของจิตมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความรู้รวบ-ยอดครั้งที่สอง คราวนี้กิเลสราคะ โทสะ และโมหะ จะเบาบางลงมาก เพราะสติปัญญาว่องไวพอที่จะไม่ปรุงแต่งเติมเชื้อไฟให้กิเลส พอประกายกิเลสเกิดวาดขึ้น สติปัญญาจะทำงานเป็นอัตโนมัติ แล้วกิเลสก็จะดับไปก่อนที่จะลุกลามเป็นไฟกองใหญ่
แม้จะผ่านการเกิดความรู้รวบยอดถึงสองครั้ง ผู้ปฏิบัติก็ยังไม่เห็นจิตอวิชชาอย่างแท้จริง จะเห็นได้ก็เพียงเงาๆ ของจิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกูเท่านั้น
ด้วยสติปัญญาที่ละเอียดมากขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นกิเลสตัณหาละเอียดมากยิ่งขึ้น และจะเห็นว่า จิตยังมีความพอใจในกามคือความสุขทางกายทั้งปวง เมื่อได้ความสุขขึ้นมา ก็ยังมีความพอใจ อิ่มใจ เมื่อไม่ได้ความสุขนั้น ก็มีความขัดใจ หรือขุ่นใจเล็กๆ จิตจะรู้ชัดว่า จิตยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งหาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้ เพราะสิ่งเร้าภายนอกล้วนเป็นของที่เกิด ๆ ดับ ๆ ไปตามสภาพ

ในขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิตใจตนเอง อาจจะรู้เห็นจิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกูได้เป็นครั้งคราว แต่ถึงยังไม่ชำนาญทางจิต ก็จะเห็นชัดถึงความไม่มีสาระของสิ่งเร้าภายนอก รวมทั้งความไร้สาระของกาย จนเกิดความรู้รวบยอดครั้งที่สาม

จิตในขั้นนี้ ก็จะไม่ใหลไปตามสิ่งเร้าภายนอก แต่จะจำกัดวงความรู้ เข้ามาที่ตัวจิตเอง

อาศัยความสังเกตจิตตนเองอย่างละเอียดที่สุด ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสังโยชน์เบื้องสูง ๔ ประการ แทรกอยู่ในจิต คือ รูปราคะ ความพอใจในการเพ่งรูป อรูปราคะ ความพอใจในการเพ่งนาม อุทธัจจะ ความกระเพื่อมไหวนิดๆ ของจิต เพื่อจะสรุปทบทวนสิ่งที่จิตกำลังดำเนินอยู่ ว่ากำลังทำอะไรอยู่มีความถูกผิดอย่างไร และการปฏิบัตินั้น จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้หรือไม่เป็นความไหวกระเพื่อมในเรื่องการแสวงหาธรรม ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านไปในกามและมานะ คือความรู้สึกเทียบเราเทียบเขา

ถึงจุดนี้ ผู้ปฏิบัติส่วนมากจะมองกิเลสไม่ออก เพราะกิเลสในขั้นนี้ล้วนเป็นกิเลสของคนรักดี เช่น ความพอใจในสมาธิ อันได้แก่รูปราคะและอรูปราคะ ความพอใจในปัญญา อันได้แก่อุทธัจจะ แม้กระทั่งความนอบน้อมถ่อมตน รู้สึกว่าครูบาอาจารย์เป็นของสูง ส่วนเรายังต่ำต้อยจะต้องพยายามเอาอย่างครูบาอาจารย์ให้ได้ อันนี้ก็คือมานะ กิเลสเหล่านี้ หน้าตาไม่เหมือนกิเลสแต่หน้าตาเหมือนกุศล ผู้ปฏิบัติส่วนมากจึงนอนแช่มันอยู่ด้วยความเต็มใจจนตลอดชีวิต

แต่ผู้มีปัญญารอบคอย หรือได้รับคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์ จะเกิดความเฉลียวใจย้อนสังเกต โดยไม่จงใจเพ่งจ้อง และรู้ชัดด้วยใจว่า
เมื่อมีรูปราคะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ยินดีในรูปราคะ
เมื่อมีอรูปราคะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ยินดีในอรูปราคะ
เมื่อมีอุทธัจจะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น
เมื่อมีมานะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้เทียบตนเองกับท่าน
ทันทีที่รู้ถึงจิตที่เป็นเรา หรือจิตที่มีอัสมิมานะ ความเป็นเราของจิตก็จะสลายตัวลงทันที จิตจะเข้าถึงสภาวะหนึ่ง ที่เข้ามารู้อยู่ที่จุดเดียว คือตัวจิตเอง จะกล่าวว่า เป็นสภาวะที่เป็นหนึ่ง คือจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เป็นสิ่งเดียวกันก็ได้เมื่อมันเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง ก็ย่อมไม่มีความซึมซ่านของจิตออกไปภายนอก


หนังสือแนะนำ

สารบัญ

อารัมภบท
ตามรอยบาทพระศาสดา ของ ไพโรจน์ (ลออ) คุ้มไพโรจน์
ความย่อแห่งพระไตรปิฎก
ย่อวิปัสสนาภูมิ 6
หลักสมถวิปัสสนา โดยหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
มุตโตทัย โดยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่ฝากไว้ โดยหลวงปู่ดูลย์ อตุโล(พระราชวุฒาจารย์)
บันทึกธรรม โดยพระราชนิโรธรังสี คัมภีร์ปัญญาวิศิษฏ์(เทส เทสรังสี)
หลวงปู่สอนศิษย์ ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร
เจดีย์พิพิธภัณฑ์ ของหลวงปู่หลุย จันทสาโร
การพิจารณาของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
แด่เธอผู้รู้สึกตัว และเดินทางลัด ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ
ฝ่ามือพระอรหันต์
ฐานิยปูชา ครบ 6 รอบ ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ธรรมะของพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
ธรรมะของท่านพุทธทาส
พระธุดงคกรรมฐาน ของพระธรรมวิสุทธิมงคล
มหาสติปัฏฐานสูตร และแนวปฏิบัติกรรมฐาน โดยพระครูเกษมธรรมทัต (สรศักดิ์ เขมรังสี)
เสียงจากธรรมชาติ-ธรรมกำมือเดียว ของพระภิกษุบัวใต้น้ำ
พลิกนิดเดียว ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
จากตัวกูของกูถึงจิตอวิชชา-วิมุตติปฏิปทา
โดยปราโมทย์ สันตยากร
มาเริ่มเรียนธรรมะกันใหม่
แนวทางเจริญวิปัสสนารูปนามตามแนวมหาสติปัฏฐานของพระอาจารย์สุกาย อัคคกาโย
แนวการศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะ และหลักของวิปัสสนาโดยสังเขปของมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์
แนวการศึกษาพระอภิธรรมของอาจารย์ทรงเกียรติ ลิ้มนันทรักษ์
การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ของศาสตราจารย์นายแพทย์ เชวง เดชะไกศยะ
แนวทางการปฏิบัติธรรม ของอุบาสิกา กี นานายน
วิปัสสนากรรมฐาน ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เหตุใดผมจึงศึกษาธรรม ของโกวิท อมาตยกุล
ความรู้เรื่องวิปัสสนาและมหาสติปัฏฐานสูตร-กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด โดยสรรค์ชัย
ถอดรหัสกรรม
สรุปหลักการฝึกสมาธิและการเจริญสติ

บทส่งท้าย
ตรงจุดที่จิตอันมีความยึดจิตว่าเป็นเราสลายลงนี้ จิตจะเข้าถึงความเบิกบานผ่องใส สงบสงัดอยู่ภายใน จะเห็นชัดว่า สิ่งใดที่นอกเหนือจากจิตออกไปนั้น ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรอีกเลย จิตตรงนี้แหละคือจิตอวิชชา

ผู้ปฏิบัติจะหวงแหนจิตชนิดนี้มาก เพราะมันช่างผ่องใสหมดจดเบิกบาน ดังหนึ่งจิตที่เข้าถึงนิพพานแล้ว แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังเสื่อมลงไปอีก คือเสื่อมกลับไปเป็นจิตที่มีอัสมิมานะ หรือจิตที่ยึดว่าเป็นเรา แม้จะพยายามรักษาอย่างไร มันก็เหมือนกับยังมีขอบเขต มีจุดมีตำแหน่งที่กำหนดได้ และหากมีเจตนาสักน้อยหนึ่งที่จะไปกำหนดรู้หรือพิจารณามัน มันก็จะเสื่อมลงทันทีกลายเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ ครั้นจะไม่กำหนด ก็กลัวว่ามันจะผิดจะเสื่อมอีก พอกลัวผิด มันก็เสื่อมลงอีกเช่นกัน

เมื่อมันเสื่อมแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่คืนดีง่ายๆ เว้นแต่จะอาศัยการรู้สังโยชน์เบื้องสูง แล้วเฉลียวใจรู้จิตที่ถูกยึดมั่นว่าเป็นเรา ดังที่เคยปฏิบัติมา แต่ที่ง่ายกว่านั้น ก็คือการเฉลียวใจสักนิดว่า จิตกำลังแสดงไตรลักษณ์ให้ดู เพียงเฉลียวใจนิดเดียว มันก็กลับเจริญไปเป็นจิตอวิชชาอีก

จิตอวิชชา เป็นจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์มัน ไม่รู้จักตัวจิตเอง ว่าเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวแปรปรวนที่หวังพึ่งไม่ได้ผู้ปฏิบัติจึงเกิดสมุทัยคือความอยากรักษา จิตดวงนี้เอาไว้อย่างเป็นชีวิตจิตใจต่อเมื่อปฏิบัติมรรค จนจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง แล้วเกิดความรู้รวบยอดเป็นครั้งที่สี่ โดยรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ์ คือเข้าใจสภาพความเป็นจริงของก้อนทุกข์ตัวสุดท้ายนี้แล้ว จึงเข้าถึงนิโรธ คือความดับทุกข์ ความสลัดคืนความไม่อาลัยไยดีในจิตดวงนี้ จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นทั้งปวง และตัณหากับทิฏฐิ ก็ไม่อาจกลับตั้งขึ้นในจิตได้อีก

สรุปแล้ว ตรงที่จิตยึดว่าจิตเป็นเรา กับ จิตอวิชชานั้น มันยังเหลื่อมกันอยู่อีกนิดหนึ่ง คือพอเห็นความยึดว่าจิตเป็นเรา แล้วความยึดสลายตัวลงก็จะเข้าถึงจิตอวิชชา ซึ่งผ่องใสเบิกบานอย่างยิ่ง เป็นจิตรู้ที่ไม่คิดนึกปรุงแต่งอันเป็นการสร้างภาระใดๆ ให้เกิดขึ้นกับจิต เมื่อรู้อยู่กับรู้จนเพียงพอแล้ว จิตก็จะสลัดคืนสรรพสิ่ง กระทั่งจิตเอง สู่ธรรมชาติหมดกิจในทางพระพุทธศาสนา แต่เพียงเท่านี้เอง

ผมมีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง ที่จะเล่าให้พวกเราฟังกันเป็นการภายในดังนี้เมื่อปี ๒๕๒๖ ผมได้ไปกราบหลวงพ่อพุธ ที่วัดป่าสาลวัน ท่านได้ถามถึงธรรมที่หลวงปู่ดูลย์สอนผม อันเป็นเรื่องการทำลายผู้รู้ แล้วท่านก็กล่าวว่า หลวงปู่ดูลย์ก็สอนท่านอย่างเดียวกันนี้ จากนั้นท่านก็เมตตา ให้โอกาสแก่ผมด้วยกุศโลบายคือตามธรรมเนียมของผู้ปฏิบัติแล้ว จะไม่ก้าวก่ายเข้าไปสอนศิษย์ของท่านผู้อาวุโสกว่า หลวงพ่อจึงไม่บอกว่า จะสอนธรรมให้แก่ผม แต่กลับบอกว่า

“คุณกับอาตมามาทำกติกาตกลงกันไว้ ใครทำลายผู้รู้ได้ก่อน ให้มาบอกวิธีแก้กัน”

เมื่อ ๒๕๒๖ ผมมีโอกาสพบท่านอีกครั้งหนึ่ง เข้าไปกราบท่านรายงานตัวฟื้นความหลังให้ว่าผมเป็นใคร ท่านจำได้ ผมก็กราบเรียนท่านว่าจนป่านนี้ผมยังทำลายจิตผู้รู้ไม่ได้เลย ขออุบายวิธีปฏิบัติจากหลวงพ่อเพื่อทำลายผู้รู้ด้วยเถิด หลวงพ่อตอบว่า

“จิตผู้รู้ก็เหมือนฟองไข่ เมื่อจิตมีปัญญาแก่รอบแล้ว จิตจะทำลายสิ่งห่อหุ้มนั้นออกมาเอง เหมือนลูกไก่ที่โตได้ที่แล้ว เจาะทำลายเปลือกไข่ออกมาเอง”

ที่มา : http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1138.php
Post Reply