เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก แห่งภูฏาน กับชีวิตตามรอยธรรมแห่งพุทธศาสนาวัชรยาน

Post Reply
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก แห่งภูฏาน กับชีวิตตามรอยธรรมแห่งพุทธศาสนาวัชรยาน

Post by Nadda »

princess-696x365.jpg อะไรคือความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างศาสนาพุทธนิกายเถรวาทกับนิกายวัชรยานที่ชาวภูฏานนับถือครับ

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจะเน้นหนักไปที่การปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือตนเองให้หลุดพ้นก่อนแล้วจึงไปช่วยเหลือคนอื่นแต่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานเชื่อว่า เราจะไม่สามารถหลุดพ้นได้ หากเราไม่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นให้มีดวงตาเห็นธรรมก่อน

ดังนั้นชาวพุทธนิกายวัชรยานจึงเชื่อว่าเราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเรื่อย ๆจนกว่าสัตว์โลกทั้งมวลจะบรรลุธรรม ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก แต่ก็เป็นเส้นทางที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา นอกจากนั้นชาวพุทธนิกายวัชรยานยังเชื่อด้วยว่า แม้ผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว ก็สามารถเลือกที่จะกลับมาเกิดอีกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้

อยากทราบว่าการ “บรรลุธรรม”ในแบบวัชรยานมีลักษณะเป็นอย่างไรครับ

สำหรับเรา การ “บรรลุธรรม” ไม่ใช่สิ่งที่หลายคนมักจะเข้าใจกัน การบรรลุธรรมไม่ได้หมายความว่าคุณจะกลายเป็นพระเจ้าหรือมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรมากมายเพราะความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายภายนอกแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของเราเอง

“พระเจ้า” ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวคุณ แต่พระเจ้าคือ“ความเป็นพุทธะ” หรือความเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ในตัวคุณ ดังนั้นการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าก็คือการค้นพบความเป็นพุทธะในตัวคุณนั่นเอง

มนุษย์ทุกคนมีความเป็นพุทธะซ่อนอยู่ ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ฆาตกรอย่างองคุลิมาล ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ การหมั่นฝึกฝนจิตจนค้นพบความเป็นพุทธะในตัวของเราเอง เราเชื่อว่า แม้จะบรรลุธรรมแล้ว คุณก็ยังสามารถกินอาหารแบบเดิมได้เดิน ยืน นั่ง ทำงาน หรือใช้ชีวิตตามปกติได้ แม้แต่ดูทีวีก็ยังได้ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปอยู่ภายใน และสิ่งที่เปลี่ยนไปนี้คือต้นกำเนิดของพลังแห่งความแข็งแกร่งความกล้าหาญ ความรัก และความสุขของคุณ เมื่อบรรลุธรรม ทุกอย่างที่คุณทำจะเกิดจากความตื่นรู้ และชีวิตของคุณจะไม่ถูกชักนำด้วยอารมณ์หรือความรู้สึกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

สิ่งที่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานเน้นเป็นพิเศษคืออะไรครับ

การมีพระอาจารย์ที่คอยสั่งสอนดูแลเรานั้นสำคัญมากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการส่งต่อและสืบทอดกันมาผ่านทางพระอาจารย์ท่านต่าง ๆ โดยไม่ขาดสาย ดังนั้นชาวพุทธนิกายวัชรยานจึงนับถืออาจารย์ของตนราวกับนับถือพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว และเราเข้าใจว่า คำสอนของอาจารย์ก็ทำให้เราเข้าถึงความเป็นพุทธะได้เช่นกันค่ะ

สำหรับชาวพุทธนิกายวัชรยานการฝึกสมาธิมีความสำคัญอย่างไรบ้างครับ

การฝึกสมาธิสำหรับชาวพุทธนิกายวัชรยานคือ การฝึกจิตให้เคยชินกับการทำในสิ่งที่ดี ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาสติให้แหลมคมและพัฒนาปัญญาให้บริสุทธิ์ต่อไป

คนเรามักมีนิสัยของจิตที่ไม่ดีติดตัวมาคือเรามักพยายามผลักไสหรือยึดติดกับความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในจิต ทั้งความรู้สึกที่ดีและไม่ดี แต่กุญแจของการฝึกสมาธิคือการพยายามเป็นผู้รู้และเป็นผู้ดูความเป็นไปของจิต โดยไม่เอาตัวเข้าไปยึดติดกับมัน

ลองศึกษาความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในจิตดูให้ละเอียดลึกซึ้งว่า มันมีรูปร่างอย่างไรเป็นสีอะไร เป็นสิ่งอ่อนหรือแข็ง ทึบหรือใสฯลฯ และท้ายที่สุดเราก็จะเริ่มเข้าใจเองว่าความรู้สึกเหล่านั้นแท้จริงแล้วมัน “ว่างเปล่า”โดยสิ้นเชิง เพราะมันถือกำเนิดขึ้นมาจากความว่าง และก็จะคืนกลับไปสู่ความว่างดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะเป็นทุกข์เพราะความว่าง

แล้วเจ้าหญิงทรงมีวิธีการฝึกอย่างไรบ้างครับ

ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เก่งขนาดนั้น ไม่ควรใช้เป็นตัวอย่างนะคะ (ทรงพระสรวล) แต่ก็พยายามฝึกอยู่ทุกวัน สำหรับข้าพเจ้า การทำสมาธิไม่ใช่แค่การนั่งคิดและปล่อยวางจิตใจ แต่รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะต่อให้คุณทำสมาธิอย่างจริงจัง แต่พอออกจากสมาธิไปก็ยังโมโหเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ก็ถือว่าการทำสมาธิไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด การฝึกสมาธิที่แท้จริงคือการมีสติในทุกสิ่งที่คุณทำทุกคำที่คุณพูด และทุกอย่างที่คุณคิด ไม่ว่าจะในขณะขับรถหรือไปทำงาน ทุกขณะที่ผ่านไป เราควรจะทำในสิ่งที่ดีขึ้น ทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่น หากคุณสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับตัวเอง กับคนรอบตัว และทำให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็นการปฏิบัติที่ดีแล้วนะคะ
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

Re: เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก แห่งภูฏาน กับชีวิตตามรอยธรรมแห่งพุทธศาสนาวัชรยาน

Post by Nadda »

ปรัชญาทางพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดหรือแนวทางการใช้ชีวิตของเจ้าหญิงคืออะไรครับ

ในภูฏาน เราจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงมากซึ่งถือเป็นแนวทางคำสอนของพุทธศาสนาอยู่แล้ว มันสะท้อนออกมาในวัฒนธรรมของเราอย่างเช่นเรื่องของ Polygamy (วัฒนธรรมการมีภรรยาหรือสามีหลายคนในเวลาเดียวกัน) ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนในบางพื้นที่ของภูฏาน แต่ก็แน่นอนว่าอาจเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกตินักในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในด้านที่ภรรยาสามารถมีสามีได้หลายคน แต่อย่างที่บอกว่า พุทธศาสนาสอนว่าผู้หญิงกับผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน สิ่งใดที่ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงก็ย่อมสามารถทำได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าการมีคู่สมรสเพียงคนเดียวย่อมเป็นเรื่องที่ถูกทำนองคลอง-ธรรม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตราบเท่าที่เราสามารถให้ความชอบธรรมกับคู่ครองได้ไม่ว่าจะคนเดียวหรือหลายคน การมีคู่สมรสหลายคนก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิด

ชาวภูฏานให้คุณค่ากับผู้หญิงเป็นอย่างมาก เรามีผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นข้าพเจ้าคิดว่า ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงภูฏานค่อนข้างจะแข็งแรงเหมือนผู้ชาย ไม่เฉพาะด้านจิตใจ แต่รวมถึงทางด้านร่างกายด้วยผู้หญิงภูฏานแต่ดั้งเดิมนั้นจะตัวใหญ่และแข็งแรง จึงทำให้ค่อนข้างมีความเสมอภาคกันทางสังคม เราไม่เคยคิดว่างานประเภทไหนเป็นงานของผู้ชายที่ผู้หญิงไม่ควรทำแต่เราคิดว่า ถ้าผู้หญิงสามารถทำได้ก็ทำไปไม่เกี่ยวว่าคุณเป็นเพศอะไร แม้แต่เรื่องการปฏิบัติธรรมและการฝึกตนให้ไปถึงนิพพานคนภูฏานชอบมีลูกสาว เพราะเชื่อว่าเธอจะดูแลพ่อแม่ที่บ้าน และสามีจะย้ายเข้ามาในบ้านของภรรยา อย่างข้าพเจ้า เมื่อแต่งงานแล้วสามีก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านกับสมเด็จแม่และสมเด็จย่า ในขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ผู้หญิงจะแยกออกไปหรือย้ายไปอยู่บ้านผู้ชาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคงไม่สามารถจำกัดแค่ความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่เราต้องเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำหรับข้าพเจ้าแล้วสาเหตุที่ธรรมชาติกำหนดให้มีเพศหญิงกับเพศชายก็เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันดังนั้นเราต้องทำให้ทั้งสองสิ่งดำเนินไปด้วยกันเหมือนหยินหยาง ซึ่งในภูฏาน เรามีแนวคิดเช่นนั้น

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลพระทัยให้เจ้าหญิงทรงอุทิศตนในการเผยแผ่พุทธศาสนามาโดยตลอดคืออะไรครับ

เป็นเพราะครอบครัวของข้าพเจ้านับตั้งแต่สมเด็จทวดเรื่อยมา ต่างก็ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามาก พุทธศาสนามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประเทศของเรา เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีของคนภูฏาน รวมทั้งทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิตข้าพเจ้ามาตลอด

แต่ถ้าถามถึงจุดเริ่มต้น คงต้องย้อนกลับไปตอนเด็ก ๆ สมเด็จแม่ไม่ได้ส่งข้าพเจ้าไปโรงเรียน ข้าพเจ้าต้องเรียนหนังสือที่บ้านและโตมากับงานทางศาสนาตั้งแต่ยังเด็กมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ได้ติดตามสมเด็จย่าไปประกอบพระกรณียกิจทางศาสนา 4 - 5งานต่อปี ทำให้ข้าพเจ้าและครอบครัวตระหนักถึงคุณค่าของพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้ทำงานอาสาสมัครให้กับสำนัก Drukpa ในงานที่ชื่อ Annual Drukpa Council หรือ ADC ซึ่งวัตถุประสงค์หลักนั้น นอกเหนือจากส่งเสริมให้คนตระหนักถึงความสำคัญของพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีการทำกิจกรรมสาธารณกุศลต่าง ๆ ร่วมกับคนภูฏาน มาเลเซีย และไทยโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น อย่างคราวที่ประเทศฟิลิปปินส์ประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ เราก็ช่วยรณรงค์หาหยูกยาและแพทย์อาสาไปช่วยรักษาผู้ประสบภัย
Post Reply