เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post Reply
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post by tong »

ลองอ่านข่าวกรมชลย้อนหลัง เขาวางแผนได้ดีมาก ประชาชนไม่ค่อยรู้ เพราะไม่มีใครสรุปให้เข้าใจ

1 เม.ย. 60 กรมชลปล่อยน้ำให้ทุ่งบางระกำปลูกข้าวเร็วขึ้น จะได้เก็บเกี่ยวให้ทันเดือน ส.ค. (มีการแจ้งล่วงหน้า)
1 พ.ค. 60 กรมชลปล่อยน้ำให้ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างปลูกข้าวเร็วขึ้น จะได้เก็บเกี่ยวให้ทันเดือน ก.ย. (มีการแจ้งล่วงหน้า)
7 ก.ย. 60 กรมชลวางแผนระบายน้ำเข้าแก้มลิงทั้ง 10 ทุ่ง เป็นเวลา 30 วัน (มีการแจ้งล่วงหน้า)
25 ก.ย. 60 กรมชลเริ่มระบายน้ำเข้าทั้ง 10 ทุ่ง เพราะเก็บเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว (มีการแจ้งล่วงหน้า)
21 ต.ค. 60 ปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่าน C.2 นครสวรรค์แล้ว
1 พ.ย. 60 กรมชลวางแผนระบายน้ำออกจากทุ่ง โดยจะเริ่มตั้งแต่ทุ่งบางระกำก่อน ไล่ลงมาจนถึงทุ่งสุดท้ายคือทุ่งโพธิ์พระยา เพื่อให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกในพื้นที่
snap1672.png 12-fields.png ทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งรังสิตใต้ เป็นทุ่งที่ใช้เป็นทางผ่านลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนให้ระบายออกสู่ทะเล
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ไม่สามารถเอาน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ได้
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: กรมชลฯ เทียบสถานการณ์น้ำปัจจุบันกับปี 54 ฝนตกใกล้เคียง

Post by tong »

กรมชลฯ ไขความกังวลใจทางสื่อโซเชียลเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันและปี 54 เผยแม้สถานการณ์ฝนตกจะใกล้เคียงกัน แต่ด้วยการบริหารจัดการทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมีปริมาณน้อยกว่าปี 54 อย่างมาก

วันนี้ (25 ตุลาคม 2560) ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่มีกระแสความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นในเชิงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนเมื่อปี 2554 นั้น กรมชลประทานขอเรียนว่า ในช่วงฤดูฝนปี 2560 ประเทศไทยได้รับอิทธิพล จากพายุโซนร้อน ตาลัส เซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชั่น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนรวมสะสม 1,771 มิลลิเมตร ( ณ วันที่ 24 ต.ค. 60) เมื่อเปรียบกับ ณ เวลาเดียวกัน ในปี 2554 มีปริมาณน้ำฝนรวมสะสม ที่ 1,798 มิลลิเมตร นับว่ามีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่รัฐบาลได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ล่วงหน้าแล้ว ในช่วงก่อนน้ำมา และระหว่างน้ำมา ทำให้ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดกับประชาชนไม่ขยายเป็นวงกว้าง ดังนี้

1.การดำเนินการก่อนน้ำมา
1.1 พัฒนาเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ / แก้มลิง ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ จำนวน 5,016 โครงการ สามารถรับน้ำได้ 1,579 ล้านลูกบาศก์เมตร
1.2 คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง และขนาดกลาง 248 แห่ง
1.3 วางแผนการระบายน้ำฤดูฝน
1.4 ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกพืช ทุ่งบางระกำ ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างใต้ จ.นครสวรรค์ เตรียมให้เป็นทุ่งรับน้ำหลาก 13 ทุ่ง รับน้ำได้กว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
1.5 กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในทุ่งเจ้าพระยา 0.865 ล้านตัน
1.6 เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกล
2.การดำเนินการระหว่างน้ำมา
2.1 การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก
2.2 ใช้อ่างเก็บน้ำในการหน่วงน้ำ (เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์)
2.3 ยกระดับน้ำเหนือเขื่อนทดน้ำเพื่อหน่วงน้ำ (เขื่อนนเรศวรและเขื่อนเจ้าพระยา)
2.4 การจัดจราจรน้ำ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำชี
2.5 ตัดยอดน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (ที่ปรับปฏิทินส่งน้ำ ทำให้พื้นที่เกษตรเก็บเกี่ยวหมดแล้ว)
2.6 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 607 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 73เครื่อง และเรือผลักดันน้ำ 64ลำ และบูรณาการร่วมกับกองทัพเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วมปี 2560 นี้กับ ปี 2554 ตามที่หลายฝ่ายมีความกังวลนั้นจะมีความแตกต่างกัน โดยจากข้อมูลทางด้านสถิติของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงวันและเวลาเดียวกัน พบว่า ปริมาณที่ไหลที่ผ่านแต่ละสถานีวัดน้ำของปี 2560 น้อยกว่า ปี 2554 กล่าวคือ ปัจจุบัน (25 ตุลาคม 2560)ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานี c.2 จังหวัดนครสวรรค์ 3,019 ลบ.ม./วินาที น้อยกว่าปี 2554 จำนวน 1,019 ลบ.ม./วินาที (4,038 ลบ.ม./วินาที ในปี 2554), ปริมาณน้ำไหลเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท 2,697 ลบ.ม./วินาที น้อยกว่าปี 2554 จำนวน 729 ลบ.ม./วินาที (3,426 ลบ.ม./วินาที ในปี 2554) และปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.29A จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,702 ลบ.ม./วินาที น้อยกว่าปี 2554 จำนวน 801 ลบ.ม./วินาที (3,503 ลบ.ม./วินาที ในปี 2554)
snap1666.png สำหรับการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำนั้น กรมชลประทาน ได้มีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัด และกระทรวงมหาดไทย อย่างรวดเร็วมาโดยตลอด ภายใต้การวิเคราะห์ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จำนวน 10 หน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบสถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมสำหรับแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ตลอดจนมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชลประทานทุกพื้นที่ร่วมประชุม วางแผน บูรณาการร่วมกับทางจังหวัดและประสานลงพื้นที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับประชาชนที่เป็นจุดเสี่ยงและเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
GISTDA_สรปสถานการณนำทวม_20171024ppt_edit3_Page_3.jpg GISTDA_สรปสถานการณนำทวม_20171024ppt_edit3_Page_4.jpg
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: กรมชลฯ เทียบสถานการณ์น้ำปัจจุบันกับปี 54 ฝนตกใกล้เคียง

Post by tong »

คลองรังสิตขุดตั้งแต่ 2433 - 2448
RangsitMap.png
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post by tong »

25 ต.ค.60 สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา : นครสวรรค์น้ำลดลงต่อเนื่อง

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด และยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้าวันนี้ (25 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,019 ลบ.ม./วินาที ส่วนระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังทรงตัวจากวานนี้ (24 ต.ค. 60) กรมชลประทาน ยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,697 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะคงอัตรานี้ไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมกับบริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยการแบ่งรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันประมาณ 767 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับรับน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,361 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนภูมิพล ยังคงปิดการระบาย ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาททรงตัว ส่วนบริเวณตั้งแต่จ.สิงห์บุรีไปจนถึงจ.อ่างทอง เพิ่มขึ้น 11 – 12 เซนติเมตร และบริเวณจ.พระนครศรีอยุธยา ที่บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตร บ้านบางหลวงโดด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 4 เซนติเมตร และอ.บางบาล เพิ่มขึ้น 2 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,702 ลบ.ม./วินาที (ปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับได้ 3,500 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งในระยะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงไปจนถึงวันที่ 27 ต.ค. 60

กรมชลประทาน จึงได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำ จากกองทัพเรือ นำมาติดตั้งในบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลง ให้ออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น หลังจากที่รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือมาแล้ว 55 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณจ.สมุทรสาคร พร้อมกับเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณจ.นครปฐม เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 14 เครื่อง ในบริเวณคลองระพีพัฒน์ ไซฟ่อนพระธรรมราชา ไซฟ่อนพระอินทราชา คลองเปรมประชากร ประตูระบายน้ำคอกกระบือ ประตูระบายน้ำบางน้ำจืด และบริเวณท้ายท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเต็มความจุเกือบทุกทุ่งแล้ว คงเหลือทุ่งโพธิ์พระยา ที่ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่หน ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 127 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งรังสิตใต้ เป็นทุ่งที่ใช้เป็นทางผ่านลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนให้ระบายออกสู่ทะเล เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ไม่สามารถเอาน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ได้ ปัจจุบัน (25 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,361.50 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆลดลงต่ำกว่าระดับน้ำในทุ่ง จะทำการระบายน้ำออกจากทุ่งในระยะต่อไป โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำไว้ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงทำนารอบที่ 2 (นาปรัง) ต่อไป

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน
25 ตุลาคม 2560
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post by tong »

22 ต.ค.60 ปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านอ.เมืองนครสวรค์แล้ว เมื่อเย็นวานนี้

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น หลังปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ไปแล้วในเกณฑ์ 3,059 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (21 ต.ค. 60)

​นายทองเปลว กองจันทร์รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า หลังจากที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงจากจ.กำแพงเพชร ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วงเย็นของวานนี้ (21 ต.ค. 60) ปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ไปแล้วในอัตรา 3,059 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะทรงตัวและเริ่มลดลงจนถึงช่วงบ่ายของวันนี้ (22 ต.ค. 60) วัดปริมาณน้ำได้ 3,049 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร แนวโน้มระดับน้ำลดลงคาดว่าเมื่อไหลมาสมทบกับปริมาณน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง จะทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 22 - 24 ต.ค. 60 เพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันประมาณ 10เซนติเมตร

​ปัจจุบัน (22ต.ค. 60) ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.30 เมตร (รทก.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,598 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงบริเวณจ.พระนครศรีอยุธยายังทรงตัวกรมชลประทาน ยังคงการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ในช่วงวันที่ 17– 22 ต.ค.60 ตามมาตรการที่ได้วางไว้ โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังคงปิดการระบายน้ำต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์แล้ว ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนตามความเหมาะสม และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คงการระบายน้ำวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปรวมกัน 744 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ ได้ใช้ศักยภาพของระบบชลประทาน ในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้ง เครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทาน และของกองทัพเรือติดตั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด รวมไปถึงการใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลงด้วย

​สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มทรงตัวลดลง ประกอบการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมและกลับเข้าสู่สภาวะปกติในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

​​ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน
22 ตุลาคม 2560
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post by tong »

14 ก.ย. 60 พื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง หลายทุ่งเก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้ว เตรียมรับน้ำเข้าทุ่งลดน้ำหลาก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำและติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดนั้น จากการติดตามสภาวะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 14 - 18 ก.ย. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ จากนั้นในระยะต่อไปหย่อมความกดอากาศจะเลื่อนลงมาพาดผ่าน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน บางช่วงจะเลื่อนมาพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลาง โดยจะเลื่อนลงไปสู่ภาคใต้ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะหมดลงในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้

กรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง เข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิง 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 1.15 ล้านไร่ (พื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา) โดยได้ดำเนินการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนจะถึงฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน – ตุลาคม ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 977,501 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของพื้นที่เป้าหมาย คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้ ก่อนจะปรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีทั้งหมด 12 ทุ่ง ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากต่อไป โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน 2560 เป็นวันเริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่างๆ 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา และสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่ง คือทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ โดยทั้ง 12 ทุ่ง จะสามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยในการกำหนดช่วงเวลาในการตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง นั้น กรมชลประทาน ได้พิจารณาจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าฤดูฝนของภาคกลางจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะยังคงมีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องไปอีกประมาณ 10 วัน หรือจนถึงประมาณวันที่ 25 ต.ค. 60 ดังนั้น เพื่อให้การนำน้ำเข้าทุ่งต่างๆ เกิดประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างให้ได้มากที่สุด กรมชลประทาน ได้กำหนดให้มีการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 60 ไปจนถึงวันที่ 25 ต.ค. 60 สามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างได้ประมาณ 30 วัน”

ทั้งนี้ การผันน้ำเข้าทุ่งต่างๆ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและการคมนาคมสัญจรไป-มาของประชาชนในพื้นที่ และหลังจาก 30 วันที่ได้มีการผันน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว จะเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง และเพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำเน่าเสีย สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างตามเป้าหมายการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จหมดแล้ว สามารถใช้ทุ่งดังกล่าวเก็บกักน้ำเพื่อชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน
14 กันยายน 2560
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post by tong »

11 ก.ย. 2560 กรมชลฯ ดีเดย์ 25 ก.ย.เริ่มผันน้ำเข้าทุกทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา

วันนี้ (11 กันยายน 2560) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 29/2560 พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงาน กปร. การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อม VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั้ง 17 แห่ง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงตั้งแต่วันที่ 13-18 กันยายน 2560 จะยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง เนื่องจากยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านในแถบนี้ แต่หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ปริมาณฝนที่ตกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางจะเริ่มลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากร่องความกดอากาศที่เคลื่อนตัวลงต่ำและเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ต่อไป ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำตามนโยบายของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้มีปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 12 ทุ่งให้เร็วขึ้นกว่าปกตินั้น จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพบว่าในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ และหลังจากนั้นจะปรับพื้นที่นาข้าวลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก โดยที่ประชุมในวันนี้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน 2560 จะเป็นวันที่เริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่าง ๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา และสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่ง คือทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับปัจจัยในการกำหนดช่วงเวลาในการตัดยอดน้ำเข้าทุ่งนั้น กรมชลประทานพิจารณาจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ และปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะสามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแนวทางการกระจายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งซ้าย) จะเริ่มรับน้ำที่คลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำเต็มศักยภาพของคลองประมาณ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและตัดเข้าทุ่งเชียงรากและทุ่งท่าวุ้ง จำนวน 15 วัน หลังจากนั้น 15 วันถัดไปจะกระจายน้ำไปในพื้นที่ทุ่งฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ส่วนที่คลองชัยนาท-อยุธยา 13 วันแรกจะรับน้ำที่ทุ่งบางกุ้งและทุ่งบางกุ่ม (บางส่วน) และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 14-30 จะรับน้ำเข้าทุ่งบางกุ่มจนเต็มพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งขวา) จะเริ่มที่แม่น้ำน้อยในพื้นที่ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ระยะเวลารับน้ำ 30 วัน สามารถรับปริมาณน้ำได้ 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านแม่น้ำท่าจีน สามารถตัดน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา มีระยะเวลารับน้ำ 30 วัน รองรับปริมาณน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนั้นยังจะรับน้ำคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างและไหลลงสู่ทะเลเป็นระยะเวลา 30 วันด้วย

รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวย้ำว่า การผันน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและการคมนาคมสัญจรไป-มาของประชาชนในพื้นที่ และหลังจาก 30 วันที่มีการผันน้ำเข้าทุ่งแล้วจะต้องเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับใช้การในช่วงแล้ง และเพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำเน่าเสีย
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

Re: เทียบสถานการณ์น้ำปี 2560 กับปี 2554 ฝนตกใกล้เคียงกัน

Post by tong »

7 ก.ย. 60 กรมชลฯ พร้อมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเดือนก.ย. – ต.ค. นี้

กรมชลประทาน นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่ติดตามการเตรียมพร้อมรับมือฝนที่จะตกช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2560 คาดภายในกลางเดือนกันยายน พื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ พร้อมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากตอนบน

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวบรรยายสรุปว่า ตามที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงมรสุมหรือฤดูฝนของภาคกลาง ได้ให้กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำและให้การช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด นั้น

กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้แล้วตั้งแต่ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา โดยการปรับปฏิทินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้ทำนาปีให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 เม.ย. 60 เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับความต้องการและได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เต็มพื้นที่ เสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก และสามารถรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งได้แล้วกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปฏิทินการส่งน้ำ เพื่อทำนาปีให้เร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างบริเวณ 12 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 1.15 ล้านไร่ โดยกรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำให้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 60 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน-ตุลาคม ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 953,706 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของพื้นที่เป้าหมาย มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 687,551 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมดภายในกลางเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้ว จะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้ในการตัดยอดปริมาณน้ำหลากสูงสุดบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปุทมธานี นนทบุรี รวมไปถึงกรุงเทพมหานครด้วย โดยพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างตามเป้าหมายการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จหมดแล้ว สามารถใช้ทุ่งดังกล่าวเก็บกักน้ำเพื่อชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนของทุ่งผักไห่ หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีพื้นที่ทั้งหมด 145,278 ไร่ และมีการเพาะปลูกเต็มที่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 114,578 ไร่ หรือร้อยละ 79 ของพื้นที่เพาะปลูก ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทำการเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในกลางเดือนกันยายนนี้ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว จะนำพื้นที่ทุ่งผักไห่เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ เพื่อตัดยอดปริมาณน้ำสูงสุดบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้ประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างมาก

อนึ่ง การจะนำน้ำหรือตัดยอดปริมาณน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงต่างๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั้น จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ ต้องมีมติเห็นชอบร่วมกันให้เอาน้ำเข้าได้ และจะต้องไม่กระทบต่อเส้นทางสัญจรหรือพื้นที่ชุมชน อย่างไรก็ตาม การนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง จะต้องทำการตัดยอดปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7 กันยายน 2560
Post Reply