เรื่องเล่าตระกูลดัง : "จิระนคร" ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่

Post Reply
tong
Site Admin
Posts: 2386
Joined: Fri 01 May 2009 8:55 pm

เรื่องเล่าตระกูลดัง : "จิระนคร" ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่

Post by tong »

เรื่องเล่าตระกูลดัง : "จิระนคร" ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่

น้อยคนนักจะรู้ความเป็นมาของนครหาดใหญ่ หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ "เจียกีซี" แห่งตระกูลจิระนคร ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนวางรากฐานสาธารณูปโภคของเมืองนี้

"โคก เสม็ดชุน" คือชื่อเดิมในอดีตของอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน ตามคำบอกเล่ามีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเนินสูงมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก การคมนาคมไม่สะดวกเต็มไปด้วยป่าต้นเสม็ดชุน ซึ่งกลายเป็นชื่อที่เรียกขานชุมชนที่ตั้งริมคลองอู่ตะเภาว่า "บ้านโคกเสม็ดชุน"

"นายเจียกี ซี" หรือที่รู้จักในนาม ขุนนิพัทธ์จีนนคร ต้นตระกูล "จิระนคร" เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2429 ที่บ้านตำบลจูไฮ อำเภอเหมยเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เป็นบุตรคนที่ 4 ในบรรดาพี่น้อง 6 คน ของ "นายเจียชุ้นหลิน" และ "นางหลิ่มคอนกู" เป็นหลานปู่ของ "นายเจียหยุ่นฟอง" และ "คุณย่าแซ่หย่อง" ชื่อ "ฉื่อเฉา"

"นายเจียกีซี" ในวัยเยาว์ได้รับการอบรมศึกษาจากคุณปู่ซึ่งเป็นอาจารย์มาเป็นอย่างดี เมื่อคุณปู่สิ้นชีวิตลง บิดาของ "นายเจียกีซี" ได้เดินทางไปประกอบอาชีพส่วนตัวที่เมืองฮาป้าฮี กระทั่ง "นายเจียกีซี" มีอายุ 17 ปี จึงได้เดินทางไปที่เมืองฮาป้าฮีเพื่อช่วยบิดาประกอบกิจการค้าขาย จนกระทั่งอายุ 19 ปี จึงได้อพยพถิ่นฐานมาทำกินบนผืนแผ่นดินสยาม

"นาย เจียกีซี" ออกเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังประเทศสยามในปี พ.ศ.2447 ซึ่งโดยสารมากับเรือของบริษัทญี่ปุ่นขนาดระวาง 1,000 ตันกร๊อส บรรทุกผู้โดยสาร 500 คน ผจญคลื่นลม 7 วัน 7 คืน กระทั่งเรือเข้าเทียบท่าบางกอก เมื่อถึงแผ่นดินสยาม "นายเจียกีซี" เริ่มต้นหารายได้ด้วยการเข้าทำงานที่ร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศ (ยี่ห้อเต็กเฮงไท้) ที่บางกอก ซึ่งเป็นกิจการของ "นายหย่องเฮี้ยงชิ้ว" ผู้เคยเป็นศิษย์ของคุณปู่ โดยทำงานอยู่ที่ร้านจำหน่ายสุราได้ระยะหนึ่งก็ลาออกไปเผชิญโชคด้วยตัวเอง

บางกอกในปี พ.ศ.2448 เป็นยุคปฏิรูปการปกครอง จัดกระทรวง ทบวง กรมใหม่ ทั้งในด้านการชลประทาน การรถไฟ การเกษตร การตั้งโรงไฟฟ้า กรมไปรษณีย์โทรเลข การประปา ฯลฯ ต่อมาในปี พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) มีพระบรมราชโองการให้สร้างทางรถไฟสายเพชรบุรีจรดสุดชายแดนภาคใต้ "นายเจียกีซี" จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานกับบริษัทรับเหมาสร้าทางรถไฟสายนี้ โดยได้รับหน้าที่เป็นผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไป เหตุการณ์ครั้งนี้เองที่ทำให้เข็มทิศชีวิตของ "นายเจียกีซี" มุ่งสู่ดินแดนด้ามขวานของสยามประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งงานสร้างทางรถไฟในสมัยนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับปักษ์ใต้ยังคงมีพลเมืองน้อยสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นป่าทึบ และยังมีโรคไข้ป่าแพร่ระบาด บางแห่งเป็นที่ลุ่มน้ำขึ้นสูง ส่งผลให้งานที่ดูแลก้าวเดินไปอย่างล่าช้า แต่กลับเป็นเรื่องดีต่อ "นายเจียกีซี" ที่ได้มีโอกาสศึกษาสภาพชีวิตและเรียนรู้ขนบธรรมเนียมของผู้คนในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด

"นายเจียกีซี" ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมงานถางป่าให้เป็นแนวกว้างประมาณ 40 เมตร เพื่อเป็นแนวทางการลงดิน งหินสำหรับวางเส้นทางรางรถไฟ เนื่องจากการสร้างทางรถไฟมีระยะทางยาวหลายร้อยกิโลเมตร จึงต้องแบ่งงานออกเป็นช่วงๆ ช่วงละ 30 กิโลเมตร แต่ละช่วงมีโรงงานขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง มีคนงานช่วงละ 200 คน มีนายช่างชาวอิตาลีเป็นผู้ดำเนินการทางเทคนิคพร้อมผู้ช่วยชาวเอเชียอีก 2 คน

คนงานสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นคนจีนหลายภาษา จึงต้องแบ่งหน้าที่การงานโดยให้ชาวจีนแคะทำหน้าที่บุกเบิกถางป่า ชาวจีนแต้จิ๋วทำหน้าที่โกยดินถมทางให้สูงประมาณ 4.5 เมตร ชาวจีนกวางตุ้งทำหน้าที่โรยหินบนดินที่ถมไว้เพื่อเป็นแนวทางรถไฟ บางครั้งงานที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วถูกน้ำป่าเซาะทลายก็ต้องเริ่มต้นงานใหม่อีก ตลอดเส้นทางการสร้างรถไฟสายใต้นี้ต้องใช้คนงานทั้งหมดหลายพันคน ซึ่งเจียกีซีต้องสูญเสียเพื่อนจากแผ่นดินใหญ่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ไปหลายชีวิต

การสร้างรถไฟสายใต้นี้ รัฐบาลพระปิยมหาราชเจ้าได้กู้เงินจากอังกฤษ (จำนวน 4 ล้านปอนด์สเตอริงค์ทองคำ หรือ 44 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ในยุคทองคำราคาบาทละ 25 บาท) การสร้างสะพานก็ต้องส่งปูนซิเมนต์มาก่อเป็นคอสะพาน แล้วจึงส่งสะพานสำเร็จรูปซึ่งทำจากอังกฤษมาวางให้พอดี ขนาดของสะพานเหล็กนี้มีตั้งแต่ 30-80 ตัน การลำเลียงปูนซิเมนต์และรางเหล็กจากเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ต้องลำเลียงโดยทางน้ำและทางบกเป็นทอดๆไปจนถึงอำเภอและจังหวัดต่างๆ ช่วงเวลาดังกล่าว "นายเจียกีซี" ได้สั่งสมประสบการณ์และอาศัยเรียนรู้วิชาการต่างๆจากนายช่างฝรั่งด้วยวิธีครูพักลักจำ นานแรมเดือนแรมปีกระทั่งมีความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง จนในที่สุดโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ได้บุกบั่นมาถึง "บ้านน้ำน้อย" (ครึ่งทางระหว่างสงขลา-หาดใหญ่) ซึ่งเป็นจุดพลิกผันชะตาชีวิตครั้งสำคัญของ "นายเจียกีซี"

บ้านน้ำน้อย หรือตำบลน้ำน้อย เป็นชื่อรวมของหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนกาญจนวาณิชย์ในอดีต ที่สำคัญหมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งแร่เหล็กอีกทั้งเป็นที่โจษจันไปทั่วว่าเป็นแหล่งรวมช่างเหล็กฝีมือดีแห่งหนึ่งในประเทศไทยขณะนั้น "เจียกีซี" จึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วนั่งเกวียนไปสงขลา ตั้งใจจะพำนักอยู่ที่สงขลาสักระยะหนึ่งเพื่อหาลู่ทางสร้างเนื้อสร้างตัว แต่แล้วกลับถูกขโมยขึ้นบ้านยกเค้ากวาดทรัพย์สินไปเกือบหมด จึงทำให้ต้องเริ่มกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง จึงเช่าเรือจากสงขลาแล้วล่องเรือย้อนกลับไปพัทลุงเพื่อไปหา "นายฉี จื้อ ถิน" ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟในขณะนั้น เพื่อสมัครเข้าทำงานสร้างรางรถไฟอีกครั้ง และได้รับมอบหมายงานให้เป็นผู้ควบคุมทางรถไฟสายทุ่งสงเป็นเวลา 1 ปี

เมื่อภารกิจสร้างทางรถไฟสายทุ่งสงเสร็จสิ้น "เจียกีซี" ได้เดินทางกลับมาหา "นายฉี จื้อ ถิน" อีกครั้ง และในปี 2453 นั้นเองได้พบกับความรักครั้งแรก เมื่ออายุได้ 24 ปี จึงได้แต่งงานกับ "เลี่ยน แซ่จิว" ซึ่งเป็นคนอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน หญิง 1 คน ต่อมาย้ายมาอยู่ที่หาดใหญ่ และได้ให้กำเนิดบุตรชายและหญิงอีก 7 คน แต่เดิม "เจียกีซี" มีภรรยาอยู่เมืองจีนแล้วหนึ่งคนคือ "จุงช้อนยิน" เนื่องจากต้องเสี่ยงแสวงโชคมาดินแดนสยามจึงไม่สามารถพาภรรยามาด้วย กระทั่งได้เดินทางติดตามมาสมทบกับ "เจียกีซี" ในปี พ.ศ. 2457 และมาพำนักที่บ้านหาดใหญ่ จวบจนปี พ.ศ. 2459 จึงได้ให้กำเนิดบุตรชายกับ "จุงช้อนยิน" อีก 1 คน คือ "กี่ จิระนคร" ที่บ้านริมคลองอู่ตะเภาข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ รวมบุตรชายหญิงทั้งหมด 11 คนประกอบด้วย

1.นายสุกิตติ์ จิระนคร
2.นายสุธรรม จิระนคร
3.นายอัมพา จูตระกูล
4.นายกี่ จิระนคร
5.นางชูจิตร ชูจิตรบุตร
6.นางจินตนา แซ่ฉั่ว (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2505)
7.นางจุรีย์ ตันพานิช
8.นางมาลี จิระนคร
9.นายนิพัทธ์ จิระนคร (ถึงแก่กรรมพ.ศ. 2521)
10.นางกรองกาญจน์ สินสกุล
11.นายกิตติ จิระนคร

ในปี พ.ศ. 2453 "เจียกี ซี" ได้งานรับเหมาทางก่อสร้างทางรถไฟช่วงพัทลุง-ร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีช่องเขาอันกันดารเป็นป่าทึบ โดยงานรับเหมาส่วนใหญ่เป็นประเภทขุดดินเจาะอุโมงค์ลอดเขา ซึ่งเป็นการรับเหมางานต่อจาก "นายฉีจื้อถิน" อีกทอดหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้เคยมี "บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด" รับเหมาขุดดินเจาะอุโมงค์อยู่ก่อนแล้ว แต่คนงานรุ่นแล้วรุ่นเล่านับร้อยๆคนต้องล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่องเขาและทุรกันดารอย่างมาก

"เจียกี ซี" สาละวนอยู่กับการก่อสร้างทางรถไฟช่วงพัทลุง-ร่อนพิบูย์อยู่นานกระทั่งสามารถขุดอุโมงค์เสร็จได้ตามกำหนดเวลา โดยอุโมงค์ดังกล่าวคือ "อุโมงค์ช่องเขา" ที่เลื่องชื่อในปัจจุบันนั่นเอง หลังจากประสบความสำเร็จในภารกิจแห่งนี้ จึงมีโอกาสเข้ารับเหมางานต่อโดยควบคุมเส้นทางรถไฟสายฉวาง-ทุ่งสงต่ออีก 2 ปี เมื่อเสร็จจากงานรับเหมาช่วงฉวาง-ทุ่งสงแล้วก็ได้รับเหมาสร้างทางรถไฟสายใต้ช่วงต่อไปอีก กระทั่งงานรับเหมาทางรถไฟสายใต้มาสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่แถบคลองอู่ตะเภา ห่างจากที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ (ในปัจจุบัน) ประมาณ 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น โดยสถานีชุมทางอู่ตะเภาเป็นเส้นทางรถไฟสายสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ในอดีตนั้น ปัจจุบันใช้เป็นเพียงที่หยุดรถไฟ

ไม่นาน "เจียกีซี" ก็ได้งานรับเหมาสร้างทางต่อไปอีกจนกระทั่งถึงอำเภอโคกโพใธิ์ จังหวัดปัตตานี ขณะเดียวกันก็ต้องเดินทางกลับไปกลับมาระหว่างสถานี อำเภอโคกโพธิ์-อู่ตะเภาอยู่เป็นประจำ เนื่องจากต้องกลับมาซ่อมทางที่เสียหายจากการถูกน้ำท่วม "เจียกีซี" จึงมีโอกาสศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของแร่ โดยเฉพาะการใช้โอกาสในการเดินทางสำรวจหาแหล่งแร่ดีบุกวุลแฟรมที่มีอยู่มากในบริเวณเขาวังพา ตำบลทุ่งเสาและตำบลท่าช้าง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นป่าทึบอยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่ บางครั้งต้องค้างคืนในป่าเพื่อการค้นหาแหล่งแร่ เป็นอยู่เช่นนี้จนเกือบจะตลอดชีวิตของท่าน จนในบั้นปลายของชีวิตท่าน ได้ทิ้งมรดกการทำเหมืองแร่ให้กับลูกหลานได้รับช่วงต่อมา งานสร้างทางรถไฟสายใต้จากเพชรบุรีจรดสุดชายแดนภาคใต้เสร็จสิ้นลงด้วยดี สถานีสุดท้ายสุดชายแดนคือ สถานีสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และสถานีปาดังเบซาร์จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2455 "เจียกีซี" จึงได้มีโอกาสกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง

การย้ายครอบครัวมาปักหลักวางฐานที่บ้านป่าต้นเสม็ดแห่งนี้ ทำให้ "เจียกีซี" เริ่มเข้าไปมีบทบาทกับการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ โดยเฉพาะการทำการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน โดยมีเส้นทางสายกาญจนวานิช ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้สามารถดึงคู่ค้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาซื้อสินค้าการเกษตรที่บ้านโคกเสม็ดชุน หรือหาดใหญ่ในปัจจุบัน จนสถานที่แห่งนี้เริ่มเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้านานาชนิดในสมัยนั้นไปโดยปริยาย

หลังก่อสร้างทางรถไฟสายใต้สิ้นสุด "เจียกีซี" และครอบครัวมาปักหลักที่บ้านโคกเสม็ดชุน และเริ่มค้าขายพร้อมศึกษาภูมิศาสตร์ทางกายภาพด้วยหลักฮวงจุ้ย ผนวกกับข้อมูลที่รวบรวมไว้ในช่วงก่อสร้างรางรถไฟไปยังสถานีปาดังเบซาร์ พบว่าชุมชนแห่งนี้มีหาดทรายขนาดใหญ่ที่เกิดจากธารน้ำเล็กๆ 3 สายมารวมกัน และกระแสน้ำพัดทรายมารวมกันจนมีพื้นที่ใหญ่ขึ้นๆทุกปี ที่สำคัญธารน้ำมีประโยชน์ในการล้างแร่ดีบุกซึ่งมีอยู่มากในละแวกนี้ กระทั่งชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหมู่บ้าน "หาดทราย"

ระหว่างที่ขยับขยายครอบครัวมาอยู่ที่ห้องแถวสร้างใหม่ "เจียกีซี" ยังติดต่อทางจดหมายกับชาวมาลายู แต่เนื่องจากบริเวณที่พักอาศัยนี้ไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ เพื่อสะดวกในการติดต่อกับชาวต่างประเทศ จึงใช้ชื่อ "บ้านหาดใหญ่" ซึ่งเป็นชื่อของละแวกบ้านใกล้เคียงเป็นสถานที่ติดต่อส่งจดหมายมายังจุดหมายปลายทาง

จากนั้น "เจียกีซี" ได้ขอซื้อที่ดินจาก "นายหนูเปียก จันทร์ประทีป" ผู้ใหญ่บ้านจำนวน 50 ไร่ เป็นเงิน 175 บาท ซึ่งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ กระทั่งปี พ.ศ.2460-2461 มีกำหนดให้เปลี่ยนป้ายสถานีโคกเสม็ดชุนใหม่ โดยก่อนจะเปลี่ยนชื่อสถานีใหม่ ทางการได้เรียกข้าราชการทั้งปลัดเทศาภิบาล นายไปรษณีย์ และ "เจียกีซี" มาหารือ โดยเสนอชื่อใหม่เป็น "สถานีรถไฟหาดใหญ่"

หลังจากซื้อที่ดินที่บ้านโคกเสม็ดชุนส่วนหนึ่งแล้ว ต่อมาได้ติดต่อทางการเพื่อขอซื้อที่ดินเพิ่ม จึงได้โค่นป่าเสม็ดเพื่อปรับพื้นที่ให้กว้าง พร้อมทั้งสร้างห้องแถวให้กับครอบครัวและเพื่อนบ้านที่สนิทรวม 5 ห้อง ต่อจากเขตย่านรถไฟใน และเป็นห้องแถวที่เกิดขึ้นครั้งแรกในขณะนั้นของภาคใต้ (ปัจจุบันที่ตั้งธนาคารนครหลวงไทย) ก่อนที่ "เจียกีซี" จะสร้างห้องแถว ได้คิดและวางผังเมืองไว้อย่างมีระเบียบ โดยการตัดถนนดินแดงสายแรกด้านหลังสถานีรถไฟ โดยเรียกว่า "ถนนเจียกีซี" และตัดอีก 3 สาย คือถนนเจียกีซี 1 ถนนเจียกีซี 2 และถนนเจียกีซี 3 เป็นตารางหมากรุก และต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นถนน "ธรรมนูญวิถี" และ "ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1-3" ในปัจจุบัน ถนนสายดังกล่าวถือเป็นเส้นเลือดของย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่ในวันนี้ นั่นเอง

จากห้องแถว 5 ห้องแรกของเมืองหาดใหญ่ "เจียกีซี" ขอซื้อที่ดินจากทางราชการออกไปอีกหลายร้อยไร่ทั่วหาดใหญ่ เริ่มสร้างห้องแถวอีกจำนวนมาก ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัย ทั้งชาวสวนยางและกรรมกรเหมืองแร่ ประจวบกับการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยางพาราและแร่ดีบุกในภาคใต้ราคาดี ทำให้หาดใหญ่กลายเป็นชุมทางการค้าขายที่สำคัญอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีการเกิดขึ้นของธุรกิจห้างร้านและบริษัทจำนวนมาก

สำหรับห้องแถวห้องแรกของ "ขุนนิพัทธ์" สร้างด้วยเสาไม้กลม ตัวบ้านเป็นฝาขัดแตะ หลังคามุงจาก โดยห้องแถวหลังแรกและหลังที่สองมีเพื่อนบ้านขอเช่าทำโรงแรมชื่อว่า "โรงแรมเคี่ยนไท้" และ "โรงแรมหยี่กี" ส่วน 3 ห้องใช้เป็นบ้านพักอาศัยพร้อมกับเปิดเป็นร้านขายของชำ โดยหลังสุดท้ายเปิดเป็น "โรงแรมซีฟัด" ซึ่งอยู่ตรงหัวมุมสี่แยกถนนธรรมนูญวิถีตัดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 (ที่ตั้งธนาคารนครหลวงไทยในปัจจุบัน) "เจียกีซี" จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้องเช่ารายแรกในหาดใหญ่

พ.ศ.2440 "บ้านโคกเสม็ดชุน" มีบ้านอยู่อาศัยแค่ประมาณ 10 หลังคาเรือน และบ้านหาดใหญ่มีบ้านประชาชนประมาณ 4 หลังคาเรือน อยู่ในการปกครองของ "หลวงรักษาพลสยาม" สังกัดเมืองสงขลา กระทั่งต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอหาดใหญ่ในปี พ.ศ.2460 "เจียกีซี" ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีห้องแถวกว่า 1,000 ห้อง จากหาดทรายว่างเปล่า เป็นมีพลเมืองกว่า 40,000 คน มีพ่อค้าทั้งไทยและต่างชาติสัญจรเข้ามาทำการค้าขายในหาดใหญ่จำนวนมาก

หลังจากเจียกีซี ได้เริ่มบุกเบิกสร้างห้องแถว โดยมีกลุ่มชาวบ้านและผู้ค้าขายต่างถิ่นเข้ามาพำนักอาศัย และทำธุรกิจจนเติบโตเป็นที่เลื่องลืออย่างกว้างขวาง ประมาณปีพ.ศ. 2463 เขาเดินหน้าสร้างห้องแถวหลังคามุงจากเพิ่มขึ้นอีกหลายห้อง โดยเจรจาขอขอซื้อที่ดินจากทางการเพิ่มขึ้น

"เจียกีซี" ได้สร้างห้องแถวต่อจากห้องแถว 5 ห้องเดิม เริ่มจากหัวมุมสี่แยกถนนธรรมนูญ วิถีตัดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ไปทางด้านตะวันออก (ปัจจุบันคือที่ตั้งของร้านขายหนังสือหนานหยางและร้านรอแย) จรดสี่แยกธรรมนูญวิถีตัดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ต่อมาห้องแถวช่วงนี้ ได้ขายให้กับพระยาอรรถกระวีสุนทร สำหรับตลาดหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งเจียกีซีเป็นผู้บุกเบิกในด้านการค้าขาย ก็เริ่มมีผู้คนสัญจรไปมาและแวะเวียนขนสินค้านานาชนิดมาขายกันอย่างมากมาย

"เจียกีซี" เล็งเห็นช่องทางและอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองในการทำการค้า จึงได้ขยายกิจการโดยการเปิดสำนักงาน "ยี้ชุ้นชอง" และโรงแรม "วั้นออนฝ่อ" เป็นเรือนใหม่สองชั้นหนังคามุงกระเบื้อง (เรือนไม้สองชั้นสองหลังแรกในตลาดหาดใหญ่) ที่สร้างไว้รับถนนเจียกีซี ฝั่งตรงข้ามกับห้องแถว 5 ห้องที่เริ่มต้นสร้างในครั้งแรก ขณะที่เจียกีซีก็ได้ขายที่ดินว่างเปล่าริมถนนเจียกีซี 1 ถึง 3 ให้กับชาวจีนในประเทศมาลายูหลายแปลง ทำให้หาดใหญ่เริ่มคึกคักมากขึ้น เนื่องจากมีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนทำการค้าขายอย่างจริงจัง

ในช่วงรอยต่อของการขยายตัวของตลาดหาดใหญ่ คุณพระเสน่หามนตรี พระยาอรรถกระวีสุนทร และคุณซีกิมหยง ซึ่งต่างก็มีที่ดินว่างเปล่า ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่น โดยการสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ่น และตัดถนนอีกหลายสายภายหลัง ต่อมาคุณซีกิมหยง ได้อุทิศที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนศรีนครและตัดถนนสายต่างๆ เช่น ถนนละม้ายสงเคราะห์ ถนนชีวานุสรณ์ ถนนฉัยยากุล เป็นต้น รวมทั้งได้สร้างตลาดซีกิมหยง และยังอุทิศที่ดินอีกหลายแห่งเพื่อสร้างวัดจีน สุเหร่า โรงแจและโรงพยาบาลมิชชั่นด้วย

ในปีพ.ศ. 2467 ได้มีการทำพิธีฉลองเปิดสถานีหาดใหญ่และตลาดหาดใหญ่ที่เจียกีซีเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและวางผังเมืองเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีบ้านเรือนในตลาดหาดใหญ่กว่า 100 หลังคาเรือนแล้ว ตลาดหาดใหญ่เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการทำการค้ากับชาวมาลายูมากขึ้น

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2471 ท้องที่ตลาดหาดใหญ่ได้ถูกยกกระดับฐานะให้เป็นสุขาภิบาล โดยเจียกีซีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2478 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลหาดใหญ่ และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2492 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่

ในราวปี พ.ศ. 2470 เจียกีซี ได้ย้ายครอบครัวจากห้องแถวริมถนนเจียกีซี หรือถนนธรรมนูญวิถีในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ฝั่งถนนเพชรเกษม (บ้านคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกหาดใหญ่) แต่ไม่ได้หยุดการพัฒนาเมือง ยังได้สร้างห้องแถวบนที่ดินว่างเปล่าซึ่งอยู่ปลายถนนิพัทธ์อุทิศ 1 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัทซูซูกิ) อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2480 ได้ขยายบ้านเรือนไปยังปลายถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 เนื่องจากถนนสายนี้ค่อนข้างเงียบเหงา พร้อมกับประกาศขายห้องแถวในราคาต่ำกว่าทุนเพื่อเป็นการชักจูงให้ผู้คนขยายแหล่งทำกินออกไปให้กว้างขึ้นอีก พร้อมจัดตั้งตลาดเอกชนขึ้นด้วย โดยเรียกว่า "ตลาดเจียกีซี" ตั้งอยู่เลขที่ 836 ถนนสาย1-2 หรือ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1-2 และต่อมาก็ได้สร้างโรงภาพยนต์ "เฉลิมยนต์" และตึก 3 ชั้นได้ให้ธนาคารเอเชียเช่า (ปัจจุบันเป็นธนาคารธนชาติ)

ระหว่างนั้นอาคารที่ก่อสร้างโดยเจียกีซี ยังได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกหลายแห่งและพัฒนาจาก 2 ชั้นเป็น 4 ชั้นและอาคารสูง 7 ชั้น ซึ่งเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคใต้ โดยเฉพาะถนนสายสำคัญทั้งธรรมนูญวิถี นิพัทธ์อุทิศ1-3 และเสน่หานุสรณ์ ได้รับการพัฒนาด้วยการลาดยางและคอนกรีตอย่างเป็นระบบระเบียบ

การสร้างเมืองของ เจียกีซี คือการปลูกอาคารเพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้ามาอยู่อาศัย เข้ามาปักหลักวางรากฐานชีวิตในพื้นที่ เจียกีซีเองก็พร้อมขายที่ดินให้แก่ผู้มีทุนพอที่จะขยับขยายกิจการ ฉะนั้นที่ดินของเจียกีซีจึงถูกแบ่งขายออกไปจำนวนมาก ซึ่งก็เท่ากับผู้อาศัยเหล่านั้นช่วยช่วยลงทุนให้พื้นที่มีความเจริญขึ้น

ทั้งหมดจึงเป็นเคล็ดลับของ "เจียกีซี "ที่การประสบความสำเร็จในด้านการงาน และความนับถือจากสังคมหาดใหญ่ กระทั่งกิตติศัพท์เลื่องลือกระฉ่อนไปทั่วภูมิภาค และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พร้อมเปลี่ยนนามจาก "เจียกีซี" เป็น "ขุนนิพัทธ์ จีนนคร"

----------------------
ขอขอบคุณ : คุณชาคริต โภชะเรือง
แหล่งที่มาบทความ : http://www.khlong-u-taphao.com/
Post Reply