ฮอร์โมนที่สำคัญมีอะไรบ้าง มีหน้าที่อะไร ผลิตจากตรงไหน

Post Reply
Nadda
Posts: 258
Joined: Tue 05 May 2009 8:20 pm

ฮอร์โมนที่สำคัญมีอะไรบ้าง มีหน้าที่อะไร ผลิตจากตรงไหน

Post by Nadda »

ฮอร์โมน (hormone) มาจากภาษากรีก hormao แปลว่ากระตุ้นหรือทำให้ตื่นเต้น

ฮอร์โมน คือ สารเคมีที่สร้างขึ้น จากกลุ่มเซลล์ในต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) แล้วส่งไปตามกระแสเลือด ไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย

มีหน้าที่ กระตุ้น หรือยับยั้งกระบวนการต่างๆ ในเซลล์หรืออวัยวะ ควบคุมกระบวนการต่างๆ เช่น การเจริญเติบโต การสืบพันธุ์

ฮอร์โมน ผลิตจาก 3 แหล่ง คือ ต่อมไร้ท่อ เนื้อเยื่อ และเซลล์ประสาท

ฮอร์โมนที่สำคัญๆ เช่น

เมลาโทนิน (Melatonin) ผลิตจากต่อมไร้ท่อบริเวณฐานกะโหลก ส่งผลต่อการนอนหลับ ถูกกระตุ้นออกมาด้วยความมืด

อินซูลิน (Insulin) ผลิตจากตับอ่อน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด

โกรทฮอร์โมน (Growth hormone; GH) ผลิตจากต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมอง มีผลต่อการสร้างและพัฒนาเซลล์

โปรแลคติน (Prolactin) ผลิตจากต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมอง ช่วยกระตุ้นและสร้างน้ำนมของหญิงที่ให้นมบุตร รวมไปถึงการส่งผลต่อพฤติกรรม ภาวะการเจริญพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกันด้วย

ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone ; FSH) ผลิตจากต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมอง ช่วยควบคุมการตกไข่ของรังไข่ในผู้หญิง และการผลิตอสุจิของอัณฑะในผู้ชาย

ลูทิไนซิงฮอร์โมน (luteinizing hormone; LH) ผลิตจากต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมอง ควบคุมรอบประจำเดือนของผู้หญิงให้ปกติ และทำงานร่วมกับ FSH ในการผลิตอสุจิของผู้ชาย

เทสโทสเทอโรน (testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชาย ผลิตจากอัณฑะในเพศชาย และต่อมหมวกไตในเพศหญิง ส่งผลให้เกิดความต้องการทางเพศในทั้งชายและหญิง ช่วยกระตุ้นการผลิตไขมันที่ผิวหนัง ช่วยเพิ่มมวลกระดูก และกระตุ้นการสร้างลักษณะเฉพาะของเพศชาย เช่น หนวดเครา, เสียงทุ้ม และกระตุ้นการสร้างอวัยวะเพศชายของทารกในครรภ์

เอสโทรเจน (estrogen) ผลิตจากรังไข่ ช่วยในเรื่องความจำ ควบคุมการสร้างคอเลสเตอรอล เป็นตัวช่วยไม่ให้เกิดเมือกไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยลดภาวะกระดูกพรุน และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น หากรายใดมีเอสโตรเจนมากเกินไป ก็จะทำให้ไขมันสะสมได้มากขึ้น ทำให้อ้วนง่าย อารมณ์แปรปรวนมาก หงุดหงิดง่าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด

โพรเจสเทอโรน (Progesterone) หรือ ฮอร์โมนสำหรับการตั้งครรภ์ ผลิตจากรังไข่ และรก ทำงานร่วมกันกับฮอร์โมนเอสโตรเจน มีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยกระตุ้นให้เยื่อบุผนังมดลูกชั้นในหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมการตั้งครรภ์ โดยเอสโตรเจนนั้นจะไปกระตุ้นให้มดลูกขยาย พร้อมจะหดรัดตัว แต่โปรเจสเตอโรนจะไปยับยั้งไม่ให้มดลูกรัดตัวมากจนเกินไป เพื่อให้ทารกฝังตัวที่มดลูกได้ หากในช่วงที่ไม่มีการตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนก็จะไปสลายเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้น (จากการทำงานของเอสโตรเจน) ให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน

โดพามีน (Dopamine) สังเคราะห์โดยเนื้อเยื่อประสาทและต่อมหมวกไต ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น รู้สึกมีความพึงพอใจ เกิดความรักใคร่ชอบพอ นั่นจึงมีการจัดให้โดพามีนเป็นสารเคมีแห่งรัก หรือ Chemicals of love ถ้าน้อยเกินไป หรือเซลล์สมองส่วนที่สร้างโดพามีนตาย จะทำให้มีอาการทางระบบประสาทเกิดโรคพาร์กินสันได้ ถ้ามากเกินไป ก็ทำให้เป็นคนคิดเร็ว สมองมีการตอบสนองดี สั่งการเร็ว อาจทำให้เป็นคนหุนหันพลันแล่น ไฮเปอร์ ก้าวร้าวหรือโรคจิตเภทได้

เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ผลิตจากต่อมใต้สมองและไฮโปทาลามัสในกระดูกสันหลัง ให้ออกฤทธิ์ไปยับยั้งและบรรเทาความเจ็บปวดคล้ายมอร์ฟีน (Morphine) ควบคุมความรู้สึกหิว เชื่อมโยงกับการผลิตฮอร์โมนเพศด้วย สามารถไปกดการสร้างฮอร์โมนแห่งความเครียด เช่น นอร์เอพิเนฟริน ทำให้เรารู้สึกหายเครียด และยังเป็นผลให้ระดับภูมิคุ้มกัน (antibody) ในเลือดเพิ่มขึ้นด้วย

คอร์ติซอล (Cortisol) ผลิตจากต่อมหมวกไต จะถูกสร้างมากขึ้นในตอนเช้า เพื่อช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือดด้วย เพื่อให้เราพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาระหว่างวัน ฮอร์โมนนี้จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเรามีความเครียด เมื่อเครียดก็จะไปกระตุ้นให้เรารู้สึกหิว ก่อให้เกิดโรคอ้วนได้

ถ้ามีคอร์ติซอลสูงมาก ๆ เป็นเวลานาน ปัญหาที่ตามมาก็คือ การทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความจำ ทำให้การทำงานของสมองส่วนนี้จะลดลง เซลล์ประสาท แขนงประสาทจะลดลง รวมทั้งไปขัดขวางเซลล์ใหม่ ๆ ที่มีการสร้างขึ้นด้วย อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง ฯลฯ ในผู้หญิงอาจมีปัญหาประจำเดือนขาด ไขมันสะสมมากตามใบหน้า หน้าท้อง ต้นขา ส่วนผู้ชาย ก็ต้องระวังสมรรถภาพทางเพศจะเสื่อมลง

อีพีเนฟรีน (Epinephrine) หรือ อะดรีนาลิน (Adrenaline) ต่อมหมวกไตจะหลั่งออกมาเวลาที่เราอยู่ในภาวะตกใจ โกรธ ตื่นเต้น ตกอยู่ในอันตราย หรือเกิดความเครียดมากๆ โดยจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว มีพละกำลังมากขึ้นกว่าปกติ

เซโรโทนิน (Serotonin) สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนจำเป็นที่ชื่อว่า "ทริปโตเฟน" ที่อยู่ในสมอง เป็นฮอร์โมนแห่งความสงบ มีหน้าที่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ควบคุมวงจรการนอนหลับ อุณหภูมิกาย ความดันโลหิต การหลั่งฮอร์โมน การรับรู้ความเจ็บปวด ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนกับระบบเข็มนาฬิกาของสมองนั่นเอง

หากร่างกายมีสารเซโรโทนินอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยให้อารมณ์ดี รู้สึกผ่อนคลาย สงบ มีความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์มั่นคง ไม่แปรปรวน ตอบสนองต่อความเครียดได้ดี แต่ถ้าอยู่ในภาวะเครียด เซโรโทนินจะลดลง และจะให้ผลตรงกันข้าม คือ เราจะรู้สึกหงุดหงิด ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ
Post Reply